ตำรวจ – อย. บุกทลาย แหล่งขายน้ำหวานสายเคลิ้ม ผสมโคเดอีน มอมเมาเยาวชน ของกลางอื้อมูลค่ากว่าล้านบาท

View icon 324
วันที่ 17 ต.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ทลาย แหล่งขายน้ำหวานสายเคลิ้ม แต่ให้โทษถึงเกือบตาย ยึดของกลางอื้อมูลค่ากว่าล้านบาท 

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ คณะกรรมการอาหารและยา อย. ทำการกวาดล้างผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำหวานต้องสงสัยว่าผสมโคเดอีน (ยาเสพติดให้โทษประเภท 2) และยาไม่มีทะเบียนอื่นๆ ตรวจค้น 6 จุด ตรวจยึดของกลาง 32 รายการ เป็นผลิตภัณฑ์น้ำหวานผิดกฎหมายต้องสงสัยว่าผสมสารต้องห้าม จำนวน  865 ขวด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนให้ตรวจสอบการขายยาผลิตภัณฑ์น้ำหวานยี่ห้อ “Legendtean Syrup” ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ“Legendtean Syrup” และเว็บไซต์ http://www. legendlean.com ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวกำลังระบาด และเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น โดยการนำไปผสมน้ำอัดลม, ยาบางชนิด หรือดื่มโดยไม่ผสมอะไรเลย เพื่อสร้างความมึนเมา

จึงทำการตรวจสอบเว็ปไซต์ดังกล่าว พบว่ามีการลงโฆษณาขายยาแผนปัจจุบัน และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่รับประทานแล้วเกิดอาการมึนเมา เช่น ยาน้ำแก้ไอ แก้แพ้ ทรามาดอล(Tramadol), เป็นต้น อีกทั้งมีการโฆษณาสรรพคุณของผลิตภัณฑ์น้ำหวานดังกล่าวว่ารับประทานแล้วทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะใหม่, ผ่อนคลาย, เพลิดเพลิน, ล่องลอย รวมถึงมีการเขียนรีวิวในเพจเฟซบุ๊กว่ารับประทานแล้ว เมา หลับง่าย เป็นต้น

แต่ความจริงแล้วผลของการใช้ยาแก้ไอ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีโคเดอีนเป็นส่วนผสม ในกรณีที่นำไปใช้ในทางที่ผิด จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาทิเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม หากใช้ประมาณมาก อาจทำให้หยุดหายใจ ช็อก และหัวใจหยุดเต้นและที่สำคัญ การใช้ยาติดต่อเป็นเวลานานทำให้เกิดการติดยาทั้งทางกายและจิตใจ และมีอาการถอนยาเมื่อขาดยา เช่นเดียวกับการติดมอร์ฟีนหรือเฮโรอีน ซึ่งจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาจึงจะหายจากการติดยาได้

เมื่อทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ขายบนเว็บไซต์ดังกล่าว และส่งผลิตภัณฑ์ PROMETHAZINE WITH CODEINE SYRUP ตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบเมลาโทนินซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบแหล่งผลิต แหล่งจัดจำหน่าย จึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในครั้งนี้

ต่อมาในห้วงวันที่ 30 มิถุนายน – 11 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จึงได้ร่วมกันเข้าทำการตรวจค้น สถานที่จัดเก็บ และผู้จำหน่ายในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี และอ่างทอง จำนวน 6 จุด รวมตรวจยึดของกลางทั้งหมด 32 รายการ มูลค่ากว่า 1,126,850 บาท
พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยผลิตภัณฑ์ที่ระบุตัวยาแผนปัจจุบัน และสารเสพติดข้างต้น อยู่ระหว่างการตรวจหาสารที่เป็นอนุพันธ์ทางยาและสารเสพติดจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อยืนยันผลตรวจต่อไป