อธิบดีดีเอสไอ สั่งฟ้องแก๊งทุจริตขอคืนภาษีเท็จ ทำรัฐสูญเงินเกือบ 5 พันล้าน

View icon 232
วันที่ 6 ต.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อธิบดีดีเอสไอ สั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหา แก๊งทุจริตขอคืนภาษี เปิดบริษัทเถื่อนซื้อขายเศษเหล็ก สร้างใบซื้อขายเท็จ ทำรัฐสูญเงินเกือบ 5 พันล้าน เร่งขยายผลอีก 1 คดี ความเสียหายกว่า 1 พันล้าน

วันนี้ (6 ต.ค.66) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการกองคดีภาษีอากร พร้อมด้วย นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมแถลงข่าว การดำเนินคดีกับกลุ่มนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีพฤติการณ์ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ในรอบปี พ.ศ. 2554 – 2556 หลังรับเรื่องร้องเรียนจากกรมสรรพากร โดยการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอพบว่า มีบุคคลได้รับเงินจากการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินดังกล่าวได้

ซึ่งจากการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เชื่อได้ว่า นายสุรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ในฐานะเจ้าของกิจการหลายบริษัท ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรับ ซื้อ ขาย ของเก่าประเภททองแดง ทองเหลือง ได้รับเงินจากกลุ่มนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีพฤติการณ์ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ และปิดบังซ่อนเร้น ไม่นำเงินได้ดังกล่าวมายื่นเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร ทำให้รัฐขาดรายได้ในการจัดเก็บภาษีเป็นมูลค่าความเสียหาย 4,915,093,268.32 บาท

อธิบดีดีเอสไอจึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีภาษีอากร ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 58/2566 นี้ พร้อมตัวผู้ต้องหา ไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.66 เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ

“พฤติกรรมของผู้ต้องหารายนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มเอกชน 13 ราย ที่ดีเอสไอดำเนินการ พบว่าเป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน โดยตั้งบริษัทเถื่อนประกอบกิจการซื้อขายเศษเหล็กขึ้นมาหลายบริษัท และสร้างเอกสารใบซื้อขายเท็จ โดยที่ไม่มีการซื้อขายกันจริง หรือซื้อขายค่อนข้างน้อยแต่อ้างว่าเป็นการซื้อขายจำนวนมาก และมีการเรียกภาษีคืน โดยมีเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ร่วมมือด้วย และพบมีเงินหมุนเวียนในบัญชีผู้ต้องหา ที่ผู้ต้องหาไม่สามารถชี้แจงได้ โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐทาง ป.ป.ช.ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่แล้ว”

ทั้งนี้ นอกจากคดีนายสุรศักดิ์แล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่มีพฤติการณ์เดียวกัน โดยอธิบดีดีเอสไอได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้ในคดีพิเศษที่ 115/2565 ความผิดฐานกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย จำนวนเงิน 4,366,742,951 บาท และคดีพิเศษที่ 152/2561 ความผิดฐานฟอกเงิน จำนวนเงิน 296,897,908.57 บาท นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการขยายผลเพิ่มอีกหนึ่งคดี ได้แก่ คดีพิเศษที่ 54/2566 จำนวนเงิน 1,132,231,291 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง