สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยาย เรื่อง อองโคจีเนซิส พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566

View icon 132
วันที่ 4 ต.ค. 2566
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 12.45 น. วันนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทรงบรรยาย เรื่อง อองโคจีเนซิส (Oncogenesis) พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ เป็นครั้งที่ 3

โอกาสนี้ ทรงบรรยายในหัวข้อ "การควบคุมการเพิ่มจำนวนของเซลล์และการเกิดเซลล์ตาย และ Metabolism ของเซลล์มะเร็ง" เกี่ยวกับวัฏจักรของเซลล์ ซึ่งมี 4 ระยะ แต่ละระยะจะมีจุดที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องและคุณภาพการทำงานของเซลล์ ความสำคัญของกระบวนการส่งสัญญาณเข้าสู่เซลล์ นำไปสู่การตอบสนองของเซลล์ ภาวะที่เซลล์เข้าสู่ความชราภาพ หรือ senescence และกระบวนการตายที่เรียกว่า apoptosis ปกติร่างกายจะมีการควบคุมให้มีความสมดุล หากเกิดความผิดปกติ จะนำไปสู่การเกิดมะเร็ง ซึ่งความเข้าใจในเรื่องชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง ตลอดจนกลไกในแต่ละขั้นตอนหรือกระบวนการเจริญเติบโต การเพิ่มจำนวนเซลล์นั้น จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ไปจนถึงการพัฒนายา และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

จากนั้นทรงบรรยายในหัวข้อ "กลไกการเกิดพยาธิสภาพ ของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ : กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต" ซึ่งปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและแสดงออกของยีนต่าง ๆ ในผู้ป่วยแต่ละคน ที่แยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้การพยากรณ์โรคมีความแม่นยำ ช่วยให้แพทย์เลือกแผนการรักษาและยาที่ตรงกับการเปลี่ยนแปลงของโรค ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยทรงยกตัวอย่างความเป็นมาของการพัฒนายา Gleevec ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดชนิดเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นยาตัวแรก ที่พิสูจน์ความสำเร็จของหลักการในการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะมากของมะเร็ง ทำให้มีการพัฒนาหาแนวทางการรักษาด้วยยาตำแหน่งต่าง ๆ ในเซลล์มะเร็ง

เวลา 18.23 น. เสด็จไปอาคาร 150 ปี วัดมกุฏกษัตริยาราม ในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ ศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมจากภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 สิริอายุได้ 88 ปี

ศาสตราจารย์ วิจิตร ศรีสอ้าน เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2477 เป็นบุตรของนายเยื้อน และนางซุ่ย ศรีสอ้าน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ทวินซิตีส์ สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 19 ด้านการทำงาน เริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์โท คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความรู้ความสามารถด้านการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็น "รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย" ในปี 2517 ด้วยวัยเพียง 40 ปี จากนั้น ได้เป็นผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาสำคัญหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมถึงสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ส่วนด้านการเมืองมีบทบาทสำคัญในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมาทำคุณประโยชน์ให้กับวงการการศึกษาไทยโดยเป็นผู้นำระบบการศึกษาทางไกลที่ใช้สื่อประสม เช่น สื่อทางไปรษณีย์ มาใช้กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางการศึกษา จนยูเนสโกยกย่องให้เป็นสถาบันต้นแบบของมหาวิทยาลัยเปิด ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนี้ เป็นบุคคลแรกที่นำระบบสหกิจศึกษา หรือการจัดการศึกษา เชิงบูรณาการกับการทำงานนอกสถานที่เข้ามาใช้ในไทยจนได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็น "บิดาแห่งสหกิจศึกษาไทย" ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางสุคนธ์ ศรีสอ้าน มีบุตร 2 คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง