ผู้เสพ 1.9 ล้านคน สธ.ขยาย “มินิธัญญารักษ์” บำบัดฟื้นฟูทั่วประเทศ

View icon 295
วันที่ 18 ก.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เด้งรับนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด สธ.เผยผู้เสพ 1.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2% หรือ 38,000 คน เป็นกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง เดินหน้าขยาย “มินิธัญญารักษ์” ทั่วประเทศ จำแนกบำบัด 3 กลุ่ม ตั้งเป้าให้มีระบบบำบัดผ่านเทเลเมดิซีนภายใน 6 เดือน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน และมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ชักชวน จูงใจให้เข้ารับการบำบัดรักษา และให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้

ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยยาเสพติดในประเทศไทยมีประมาณ 1.9 ล้านคน มีการตั้งศูนย์คัดกรองทั่วประเทศ 9,852 แห่ง ทำหน้าที่คัดกรองและแบ่งการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด มีประมาณ 2% หรือ 38,000 คน มีสถานพยาบาลกรมสุขภาพจิตและกรมการแพทย์ 27 แห่ง ดูแลแบบผู้ป่วยในระยะยาว 3-6 เดือน มีศักยภาพรองรับประมาณ 3,500 คน เมื่ออาการดีขึ้นจะจัดเป็นกลุ่มสีส้ม มีสถานฟื้นฟูฯ ของกองทัพและกรมการปกครอง 61 แห่ง และได้เปิดมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้การดูแลอีก 42 แห่ง มีศักยภาพรองรับประมาณ 20,000 คน

2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ มีประมาณ 24% หรือ 4.56 แสนคน มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปดูแลแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในระยะสั้น 120 แห่ง และระดับปฐมภูมิคือโรงพยาบาลชุมชนดูแลเฉพาะผู้ป่วยนอก 935 แห่ง ทั้งหมดมีศักยภาพรองรับ 120,000 คน

3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด มีประมาณ 74% หรือ 1.4 ล้านคน จะบำบัดยาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มีประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่อทุกกลุ่มอาการดีขึ้น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง ดูแลเพื่อคืนคนดีสู่สังคม

“ รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส 12 ประเด็น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องจิตเวช/ยาเสพติด มี Quick Win ในระยะ 100 วัน ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยจะจัดทำทะเบียน คัดกรอง บำบัดรักษา และฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงทั่วประเทศ เร่งรัดจัดตั้ง 4 สหาย และมินิธัญญารักษ์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะเสนอกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ในโรงพยาบาลที่เปิดมินิธัญญารักษ์ 42 แห่ง และกำหนดกรอบอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อรองรับการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานบำบัดยาเสพติดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานให้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชนทั่วประเทศ ร้อยละ 50 ส่วนในระยะ 6 เดือน จะใช้เทเลเมดิซีนและปรับระบบบำบัดให้สอดคล้องกับกฎหมาย ในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด และพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลผู้ป่วย Long Term Care และผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว” นพ.โอภาสกล่าว