องคมนตรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

View icon 145
วันที่ 14 ก.ย. 2566
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
ที่โครงการสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ ไปติดตามการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมี 26 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 11 โครงการ ในปีนี้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่ง องคมนตรี ให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงราษฎรให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำ เพื่อให้ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำให้เร็วกว่าปกติ เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลาก

โครงการสระเก็บน้ำพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) มีแนวทางบริหารจัดการในรูปแบบพื้นที่แก้มลิง เพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชฤดูแล้งของราษฎรโดยรอบพระราชานุสาวรีย์ฯ จำนวน 1,037 ไร่ และเป็นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก มีปริมาณความจุที่ระดับเก็บกัก 1,209,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งยังสนองพระราชดำริส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร อาทิ การปลูกข้าวนาปรัง การปลูกพืชอายุสั้น และไม้ผล การเลี้ยงปลา และเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน

จากนั้น เดินทางไปยังเขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ รับฟังสรุปการบริหารจัดการน้ำเขื่อนพระราม 6 และในลุ่มน้ำป่าสัก โดยเขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของไทย สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อปิดกั้นแม่น้ำป่าสักใต้บริเวณจังหวัดสระบุรี ต่อมาปี 2459 ได้เลื่อนจุดก่อสร้างมาที่คุ้งยางนม ตำบลท่าหลวง ซึ่งห่างจากอำเภอท่าเรือ ประมาณ 6 กิโลเมตร เนื่องจากมีฐานรากที่มีความมั่นคงกว่า หินคุณภาพดี และตำบลท่าหลวง มีระดับต่ำกว่าจังหวัดสระบุรี เมื่อมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาในภายหลังจะสามารถรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในยามที่น้ำในแม่น้ำป่าสักมีไม่เพียงพอ ปัจจุบันเขื่อนมีอายุใช้งาน 99 ปี มีประตูระบายพระนารายณ์ ระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่ทดไว้เข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ที่ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จนถึงทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานี รวม 680,000 ไร่ ตลอดจนใช้ในการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ผลักดันน้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำ ส่วนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนพระราม 6 ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ จึงใช้เขื่อนเป็นอาคารควบคุมปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงแม่น้ำป่าสัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง