น่าห่วง! คนเจนวาย เป็นหนี้จากแนวคิด “ของมันต้องมี” เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกยึดรถมากสุด

View icon 633
วันที่ 28 ส.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
น่าห่วง! คนเจนวาย เป็นหนี้จากแนวคิด “ของมันต้องมี” เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกยึดรถมากสุด  ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 50 ปี ก่อหนี้สูงขึ้น มีหนี้เสียมากที่สุด จากฐานะการเงินไม่มั่นคง พบหนี้เสียส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์  แนะต้องปูพื้นให้รู้ค่าของเงิน การเก็บออมตั้งแต่เด็ก 

วันนี้ (28 ส.ค.66)  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2566 ว่า  การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง กระทบต่อการจ้างงาน และระดับรายได้ของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่อง มีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2564 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ 94.7% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ

จากข้อมูลของเครดิตบูโรไตรมาสแรกปีนี้ พบว่าสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่าหนี้อยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท มีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้ และการชำระหนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า  กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงโควิด-19  ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

64ec639d849662.00993607.jpg

กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 โดยหนี้เสีย (NPL) ในปี2565 สูงกว่าปี2562 ทั้งที่ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปียังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถ เนื่องจากมีสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น รวมทั้งกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ยังมีหนี้เสียในสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับสูงอีกด้วย

สำหรับพฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี พบว่า ช่วงโควิด-19 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่น ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย หนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ และหนี้ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ โดยหนี้ประเภทนี้กลุ่มอายุ 50–59 ปี เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการชำระหนี้ ยังพบว่า กลุ่มอายุ50 - 59 ปีและกลุ่มอายุ60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 2562



64ec6386659b80.46145694.jpg

ทั้งนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า
1. ยังมีหนี้จำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล NCB ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้สุทธิ หลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ซึ่งอาจนำไปสู่การกู้ยืมเกินศักยภาพในการชำระคืนของลูกหนี้
2. การแก้ไขปัญหาหนี้เสียต้องให้ความสำคัญกับหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของ NCB ในปี 2565 สูงถึง 7.6% แต่หากพิจารณาหนี้เสียที่เกิดจากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 2.6%  ซึ่งน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารฯ
3. กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้น และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้น หรือกลุ่มเจนวาย มีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีหนี้เสียมีการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ละช่วงวัยและหนี้แต่ละประเภทต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน
4.หนี้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยปี 2565 หนี้อื่น ๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่า 18.8% อีกทั้ง ยังมีสัดส่วนNPL ต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย

64ec6378d5adc1.31447330.jpg

แนวทางแก้ปัญหาหนี้
1. ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง
2. ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย
3. หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้
4. ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้
5. ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้น ให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก อาทิเกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง