ปชป.ร้าวลึกสอบ 16 สส. โหวตสวนมติพรรค 'ชวน' ลั่นเหลือคนเดียวก็จะอยู่

View icon 97
วันที่ 25 ส.ค. 2566
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - อาฟเตอร์ช็อกในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่มีพรรคใดได้รับผลกระทบมากเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ หลังจาก 16 สส.โหวตหนุนคุณเศรษฐา สวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียง เรื่องนี้เสี่ยงทำให้พรรคแตก โดยเฉพาะหลังมีการตั้งกรรมการสอบ 16 สส.แล้ว

โดย คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เปิดเผยว่า มีผู้ร้องมาขอให้มีมติขับ สส.ที่โหวตสวนมติพรรคแล้ว ดังนั้นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบไปตามข้อบังคับพรรค ซึ่งเป็นเรื่องภายใน หัวหน้าพรรคไม่สามารถทำเป็นอย่างอื่นได้ ต่อไปเป็นหน้าที่ของกรรมการสอบสวนที่จะดำเนินการสอบสวนต่อไป

ด้าน คุณชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่าการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ต้องเป็นมติพรรค อยากร่วมรัฐบาลทำได้ แต่ไม่ใช่ไปแอบเจรจาแล้วเขาไม่รับ ดิ้นรนเป็นรัฐบาลจนทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหาย พร้อมระบุคนที่เสนอว่าใครโหวตสวนมติพรรคต้องลาออก คือ คุณเดชอิศม์ ขาวทอง

ขณะที่ คุณเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองเลขาธิการพรรคฯ ก็นำ สส.กลุ่ม 16 มาแถลงข่าว ประกาศชัด ๆ เป็นครั้งแรกแล้วว่าขอเป็นฝ่ายค้าน พร้อมระบุปัญหาภายในพรรคยังไม่ถึงขั้นแตกหัก พร้อมระบุไม่หวั่นถูกตั้งกรรมการสอบปมโหวตให้คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ จนอาจต้องถูกขับออกจากพรรค เพราะสุดท้ายไม่รู้ว่าใครจะขับใครกันแน่

การลงคะแนนวันโหวตเลือกนายกฯของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีมติงดออกเสียง แต่กลายเป็นว่ามีการลงมติออกไป 3 แนวทาง 16 เสียง โหวตหนุน 6 เสียง งดออกเสียง และมี 2 เสียง คือ นายชวน หลีกภัย กับ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ลงมติไม่เห็นชอบ โดยทั้งคู่ได้แจ้งต่อที่ประชุมฯตั้งแต่วันที่มีมติว่างดออกเสียงว่า ขอใช้เอกสิทธิ์ สส. เพราะต้องการแสดงจุดยืนให้ชัดว่าไม่สนับสนุนพรรคที่มีปัญหาทุจริต และต่อสู้กันมายาวนานกว่า 20 ปี

และด้วยเหตุผลที่ว่ามีภาระทางประวัติศาสตร์กันมายาวนาน สส.รุ่นใหญ่ยังให้ความสำคัญกับจุดยืนต่างขั้ว ตอนนี้โดน สส.รุ่นใหม่ สองสมัย แต่เติบโตเร็วมากในพรรคอย่างนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา นำทีม สส.ที่หนุนนายเศรษฐา ออกมาโต้ว่า พวกเขาไม่เคยอยู่ในสงครามสีเสื้อ จึงไม่ควรบังคับถ่ายทอดมรดกทางความขัดแย้งมาให้

ขณะที่ นายชวน ก็ออกมาสวนทันควัน กรีด สส.ทั้ง 16 คน ที่ตอนนี้ถูกเรียกว่าเป็นงูเห่าไปแล้วว่า ดิ้นรนเป็นรัฐบาล แอบไปเจรจาแล้วแต่เขาไม่รับ ทั้ง ๆ ที่การจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเป็นมติพรรค

คุณชวนไม่ปฏิเสธปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรค จนถูกมองว่าพรรคกำลังจะแตก พร้อมกล่าวทีเล่นทีจริงว่า ไม่ทราบว่าจะเหลือกี่คน แต่แม้ว่าจะเหลือตนเองแค่เพียงคนเดียวก็จะไม่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ เว้นแต่จะถูกขับออกจากพรรค

เรามาย้อนดูว่า 78 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ มีความขัดแย้งสำคัญ ๆ เกิดขึ้นช่วงไหนบ้าง

ปี 2531 เกิดความแตกแยกภายในพรรครุนแรง ทำให้กลุ่ม 10 มกรา ลาออกจากพรรคไป

ปี 2556-2557 เกิดความขัดแย้งระหว่าง สส.กลุ่ม กปปส.กับผู้บริหารพรรค ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอให้ยุติการชุมนุมเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภา แต่ไม่มีใครรับฟัง และ สส.ไม่น้อยสนับสนุนรัฐบาลทหาร กลายเป็นรอยร้าวที่ยากประสานนับจากนั้นเป็นต้นมา

ปี 2562 เกิดความขัดแย้งรุนแรงอีกครั้งจากการที่ สส.ส่วนใหญ่มีมติให้ร่วมรัฐบาล สวนทางกับที่นายอภิสิทธิ์หาเสียงไว้ สุดท้ายนายอภิสิทธิ์ รับผิดชอบด้วยการลาออกจาก สส.

ระหว่างนั้นจนถึงปี 2566 มี สส.หลายคนทยอยลาออกจากพรรค มีทั้งไปตั้งพรรคใหม่ และส่วนใหญ่ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ สนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และล่าสุด สส. ส่วนใหญ่อยากร่วมรัฐบาล ในขณะที่ผู้ใหญ่ในพรรคคัดค้าน ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ กำลังมาถึงทางแยกที่สำคัญอีกครั้ง จะสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อีกหรือไม่ มีแต่คนในพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ต้องเร่งหาคำตอบให้เจอ ก่อนจะฟุบแบบไม่มีวันฟื้น