แล้งจัด! น้ำในคลองปานามาลดฮวบ ท้องเรือเสี่ยงติดก้นคลองต้องลดน้ำหนักบรรทุก

View icon 179
วันที่ 17 ส.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
แล้งจัด! เอลนีโญทำน้ำในคลองปานามาลดฮวบ เรือผ่านลำบากต้องลดโหลดน้ำหนักบรรทุกสินค้า ลดเสี่ยงท้องเรือติดก้นคลอง เจอขึ้นค่าธรรมเนียมผ่านคลองอีก ส่งผลค่าขนส่งแพงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่าน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การลดระดับเพดานสูงสุดของอัตรากินน้ำลึกของเรือขนส่งสินค้า ทำให้เรือต้องลดความจุของตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งแต่ละเที่ยว และ 2.การเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมผันแปร Fresh Water Surcharge ที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารคลองปานามา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันอัตราค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.99% สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 2-4%

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานบริหารคลองปานามา (Panama Canal Authority) ได้ทำการปรับลดระดับเพดานสูงสุดสำหรับเรือขนาดใหญ่อย่าง Neopanamax แล้ว 9 ครั้ง โดยปัจจุบันได้ลดระดับเพดานสูงสุด
มาเหลืออยู่ที่ 44.0 ฟุต หรือ 13.41 เมตร จากเดิมอยู่ที่ 50 ฟุต 15.24 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุท้องเรือติดก้นคลองและไม่สามารถเคลื่อนที่ได้จากน้ำหนักบรรทุกที่มากเกินไป หรือ Risk of vessel grounding ซึ่งผลของมาตรการนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านโลจิสติกส์ในต่างประเทศ ประเมินว่า เรือขนส่งสินค้าจำเป็นต้องลดความจุของตู้คอนเทนเนอร์ลงประมาณ 40% และอาจต้องเพิ่มจำนวนเรือขนส่งให้มากขึ้น เพื่อกระจายน้ำหนักสินค้า 

ในปี 2566 ปานามาประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำในทะเลสาบกาตุน (Gatun Lake) ที่เป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ผันน้ำเข้าคลองปานามาและใช้ในการอุปโภคบริโภคของคนทั้งประเทศลดต่ำลงจนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 จนกระทบต่อเนื่องไปยังระดับน้ำในคลองปานามา โดยหน่วยงานวิชาการในต่างประเทศได้คาดการณ์ว่า ปี 2566 ปานามาจะเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เป็นผลพวงจากการเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงสิ้นปี

คลองปานามาเป็นคลองที่มีความสำคัญต่อการค้าโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของการค้าทางทะเลโลก เชื่อมการขนส่งทางทะเลระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกตลอดความยาว 80 กิโลเมตร ปัจจุบันคลองปานามาเป็นเส้นทางสำหรับการขนส่งสินค้ารวม 180 เส้นทางเดินเรือ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าของท่าเรือทั่วโลกกว่า 1,920 ท่าเรือใน 170 ประเทศ แต่ละปีมีเรือขนส่งสินค้าผ่านคลองปานามาประมาณ 13,000-14,000 ลำ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ถั่วเหลือง) สินค้าอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการขนส่งสินค้าผ่านคลองปานามาจะย่นระยะเวลาการขนส่ง และช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่งได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งผ่านแหลมฮอร์นของทวีปอเมริกาใต้ หรือแหลมกู๊ดโฮปของทวีปแอฟริกา

สำหรับประเทศไทยใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออก (East Coast) ของสหรัฐอเมริกา โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งของเรือตู้คอนเทนเนอร์ มีมูลค่าการค้ารวม 17,912.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่ไทยขนส่งไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ได้แก่ ยางรถบรรทุกหรือรถบัส ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์นั่ง และปลาทูน่าปรุงแต่ง และมีท่าเรือที่ใช้นำเข้าสินค้าจากไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ท่าเรือ Newark รัฐนิวเจอร์ซี (2) ท่าเรือ Savannah รัฐจอร์เจีย (3) ท่าเรือ Houston รัฐเท็กซัส (4) ท่าเรือ Norfolk-Newport News รัฐเวอร์จิเนีย และ (5) ท่าเรือ Charleston รัฐเซาท์แคโรไลนา

นอกจากนี้ ไทยยังใช้คลองปานามาในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศที่อยู่ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และเฟรนซ์เกียนา และประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลแคริบเบียน อเมริกากลาง อีกด้วย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ในปี 2567 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตมากกว่าปี 2566 ทำให้ความต้องการซื้อสินค้า ความต้องการใช้เรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์กลับมาเพิ่มขึ้น ท่ามกลางปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มยาวนานจนถึงปี 2567 จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงค่าระวางเรือจะปรับตัวสูงขึ้น จึงอยากแนะนำให้ภาคเอกชนคอยติดตาม
สภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะมีผลต่อการขนส่งสินค้าเป็นระยะ ๆ เพื่อปรับตัวและเตรียมกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อรับมือให้ทันต่อสถานการณ์โลก ขณะเดียวกัน สนค. จะคอยติดตามและทำการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน เพื่อช่วยเตือนภัยให้แก่ภาคเอกชนรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที