ตรังช่วยเหลือโลมาหลงฝูงเกยตื้นหาดเจ้าไหม

View icon 173
วันที่ 4 ส.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ตรังช่วยเหลือโลมาหลงฝูงเกยตื้นหาดเจ้าไหม พบหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกร็ง เครียด สำลักน้ำ จนท.เร่งฟื้นฟูช่วยเหลือ

ตรังช่วยโลมา วานนี้(3 สิงหาคม 2566) เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. นายพริษฐ์ นราสฤษฏ์กุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ จม.2 (หยงหลิง) ประจำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เวลาประมาณ 07.20 น. ได้รับแจ้งนักท่องเที่ยว ที่มาออกกำลังกายในพื้นที่ พบโลมาเกยตื้นที่ชายหาด บริเวณหาดสั้น ในพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ จม.2 (หยงหลิง) ม.6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พยายามให้ความช่วยเหลือโลมา พากลับลงทะเลหลายรอบ แต่โลมาก็กลับเข้าหาฝั่งบริเวณชายหาดหาดสั้นเหมือนเดิม หัวหน้าอุทยานฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง รับโลมาไปอนุบาล ที่ศูนย์วิจัยฯ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายจรูญ  ใจตรง  หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ที่ จม.2 (หยงหลิง)  กล่าว่า ตนเองเมื่อได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยงก็ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อออกไปช่วยเหลือโลมาตัวดังกล่าว ได้อย่างปลอดภัย โดยก่อนหน้านี้ตนและเจ้าหน้าที่พยายามผลักดันให้โลมาตัวดังกล่าวลงทะเลแต่ก็ไม่สำเร็จ จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง รับโลมาไปอนุบาล ที่ศูนย์วิจัยฯ  ซึ่งโลมาตัวดังกล่าวมีขนาด ความยาว 1.7 เมตร เป็นโลมาปากขวด  โดยโลมาตัวดังกล่าวเป็นโลมาเด็กอายุยังไม่มาก คาดว่าพลัดหลงจากฝูงเพราะช่วงนี้มีภายุและมรสุมกำลังแรงคลื่นสูง 2-3 เมตร อาจเป็นสาเหตุให้โลมาตัวดังกล่าวพลัดหลงฝูงมาเกยชายหาด 

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มทร.ศรีวิชัย (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย) วิทยาเขตตรัง ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ทำการรักษาโลมาเกยตื้น โดยเจ้าหน้าที่ ศวอล.เข้าตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นโลมากระโดด (Spinner dolphin, Stenella longirostris) ความยาวลำตัวประมาณ 178 ซม.ยังไม่โตเต็มวัย น้ำหนักประมาณ 55 กก. ภายนอกไม่พบบาดแผล การตอบสนองโลมาพยายามว่ายน้ำ แต่ไม่สามารถทรงตัวได้ ความสมบูรณ์ของร่างกายค่อนข้างผอม  อัตราการหายใจ 8-16 ครั้ง/5 นาที เสียงหายใจผิดปกติ มีอาการไอและสำลักน้ำ อัตราการเต้นของหัวใจ 70-120 ครั้งต่อนาที หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีอาการเกร็งและเครียด เจ้าหน้าที่ ศวอล.ได้ทำการขนย้ายโลมามาพักฟื้น ณ สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพื่อตรวจร่างกายโลมาและทำการรักษาอย่างใกล้ชิดต่อไป.