ปริญญา ชี้ไม่ง่าย แก้ ม.272 ปิดสวิตช์ สว.

View icon 52
วันที่ 14 ก.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - การเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว. นั้น จริง ๆ แล้ว สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยที่แล้ว นับจากปี 2562 เป็นต้นมา ก็เคยเสนอแก้มาแล้วถึง 6 ครั้ง แต่ว่าสุดท้ายแล้ว สว. ก็ไม่เคยให้ผ่านเลยแม้แต่ครั้งเดียว ครั้งนี้ นักวิชาการเมืองว่า ไม่ง่ายเลย

การประชุมรัฐสภาเมื่อวานนี้เพื่อเลือกนายกฯ ถือว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรานี้ กำหนดให้ สว. มาร่วมโหวตนายกฯ ด้วย

มาตรา 272 เขียนไว้ให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. 250 คน สามารถเลือกนายกฯ ร่วมกับ สส. ได้ และยังเขียนไว้เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรี "คนนอก" บัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนการเลือกตั้งได้ด้วย

หลังการเลือกตั้งปี 2562 สภาผู้แทนฯ มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 หรือ ปิดสวิตช์ สว. มาแล้วถึง 6 ครั้ง แต่ทุกครั้งจบลงด้วยการไม่ผ่านด่านของ สว.

เพราะว่าในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น นอกจากจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งในที่ประชุมรัฐสภารวมกันของ สส. และ สว. แล้ว ในวาระหนึ่งและวาระสาม ยังเขียนกฎไว้ด้วยว่า จะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว. อย่างน้อยหนึ่งในสาม หรือ 84 เสียงด้วย เมื่อวานมี สว. ลาออก 1 คน ดังนั้น
อย่างน้อยต้องเห็นชอบจาก สว. 83 เสียง ซึ่งหาก สว. ไม่เห็นด้วย ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ดังจะเห็นได้จากตลอด 4 ปี ของสภาผู้แทนชุดที่แล้ว มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ถึง 6 ครั้ง แต่ได้เสียง สว. เห็นชอบไม่ถึงหนึ่งในสาม ทำให้ต้องตกไปทุกครั้งไป

ในการเสนอแก้มาตรา 272 ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา มีเพียง 2 ครั้งเอง ที่เสียงสองสภารวมกันเกินกึ่งหนึ่ง คือครั้งที่ 3 ได้ 455 เสียง แต่เสียง สว. ได้ไม่ถึง 1 ใน 3 ได้เพียง 15 เสียงเท่านั้น ที่ใกล้เคียงอีกรอบ คือครั้งที่ 4 ได้ 461 เสียง แต่ครั้งนั้น ได้เสียง สว. เพียงแค่ 21 เสียง

ส่วนการเสนอแก้ปิดสวิตช์ สว. ที่ได้เสียง สว. ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เห็นจะเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2563 ซึ่งครั้งนั้น ได้เสียง สว.มากถึง 56 เสียง แต่ว่าเสียงรวมทั้งสองสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ดังนั้น การที่ พรรคก้าวไกล จะเสนอแก้ปิดสวิตช์ สว. รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ของพรรคก้าวไกล เพื่อปิดสวิตช์ สว. เหมือนเป็นการรุกกลับของพรรคก้าวไกล เพราะว่า สว. ส่วนหนึ่งบอกปิดสวิตช์ สว. ด้วยการงดออกเสียงเลือก นายพิธา ถ้าอย่างนั้น การปิดสวิตช์ที่แท้จริง ก็คือการตัดอำนาจนี้ไปเลย ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เข้าใจว่าเป็นการโต้กลับของพรรคก้าวไกล

แต่ อาจารย์ ปริญญา มองว่า การจะได้ 83 เสียงจาก สว. เพื่อแก้รัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ สว. นั้น ไม่ง่ายเลย เพราะถ้าแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 สำเร็จก็หมายความว่า ให้ นายพิธา เป็นนายกฯ การรุกของก้าวไกลด้วยวิธีนี้ จึงเป็นการให้ สว. ที่ให้เหตุผลว่าปิดสวิตช์ตัวเองด้วยการงดออกเสียงนั้น เหตุผลที่แท้จริงคืออะไรกันแน่

อาจารย์ ปริญญา ทิ้งท้ายด้วยว่า เมื่อ สว. มีความประสงค์จะปิดสวิตช์ สว. ด้วยการโหวตไม่เห็นด้วย ก็ควรแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ สว. เลย