คอลัมน์หมายเลข 7 : ผ่าขบวนการทุจริตทำบัตร 10 ปี แฝงตัวอยู่ประเทศไทย ตอน 2

View icon 166
วันที่ 12 ก.ค. 2566
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - คอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ ยังคงเกาะติดขยายผลปมบัตร 10 ปี ซึ่งนอกจากจะพบข้อมูลการทำผ่านนายหน้าแล้ว ยังมีเบาะแสข้อมูลขบวนการรับจ้างนำชื่อเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านอีกด้วย ตามต่อเรื่องนี้ กับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข เสนอเป็นตอนที่ 2

ข้อสังเกตการสื่อสารของบุคคลที่ถือครองบัตร 10 ปี ซึ่งตอบได้เฉพาะบางคำถาม บางคนพูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องใช้ล่ามแปลภาษาเพื่อสื่อสาร เป็นหนึ่งข้อพิรุธเบื้องต้น ที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเทศบาลนครแม่สอดพบ และมองว่านี่ไม่น่าจะเป็นวิสัยของคนที่อยู่เมืองไทยมานาน หลังสอบปากคำพยานบุคคล และพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง

หลังได้รับข้อมูล คอลัมน์หมายเลข 7 ขับรถสำรวจชุมชนตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในพื้นที่เขตเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งเป็นพิกัดที่ถูกระบุว่ามีกลุ่มชาวเมียนมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

บางคนซื้อบ้านอยู่เป็นของตัวเอง หรือเช่าอยู่กันเป็นครอบครัว แต่ก็มีบางคนที่เช่าเป็นห้องพักกระจัดกระจายอยู่ตามอะพาร์ตเมนต์ ตึกแถว ตามกำลังที่จ่ายไหว

หญิงเมียนมารายนี้ เป็นหนึ่งคนที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัย และสร้างครอบครัวทำมาหากินในเขตเทศบาลนครแม่สอด นานกว่า 20 ปี และมีบัตร 10 ปี ถือครองยืนยันการอยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมาย

และมีทะเบียนบ้าน ท.ร.13 หรือทะเบียนบ้านเล่มสีเหลือง ซึ่งกรมการปกครอง ออกให้สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันให้อาศัยอยู่เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแสดงเป็นหลักฐาน

แต่จู่ ๆ เธอกลับกลายเป็นคนที่มีสถานะอยู่อาศัยในประเทศไทยโดยไม่ถูกกฎหมาย โดยเพิ่งรู้เมื่อไปขอคัดทะเบียนเพื่อนำเอกสารไปใช้ยื่นให้กับโรงเรียนของลูก เมื่อสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ ก็ได้รับคำตอบเพียงแค่ว่า ข้อมูลถูกจำหน่ายออก

ไม่ต่างจากชาวเมียนมาหญิงรายนี้ และอีกหลาย ๆ คน ซึ่งให้ข้อมูลว่า พวกเขามีบัตร 10 ปี แต่ถูกจำหน่ายข้อมูลออกโดยที่ไม่เคยได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่

และบางคนที่อยู่มานาน มีความพยายามยื่นเรื่องแสดงหลักฐานให้ได้สิทธิการอยู่อาศัยในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายแต่ก็ทำได้ยาก

จนกลายเป็นเหตุให้หลายคนยอมซื้อช่องทางขบวนการผ่านนายหน้าซึ่งร่วมมือกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกกับการให้อยู่อาศัยในประเทศไทยโดยไม่ถูกจับ

รวมถึงยังมีคนที่ยอมรับจ้างให้ฝากชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเงินจำนวนหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการเด็กและกลุ่มชาติพันธุ์ สภาผู้แทนราษฎร สะท้อนช่องโหว่ของกฎหมายไทยเรื่องถิ่นที่อยู่บุคคล และระบบการดำเนินการ ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมานาน จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มคนใช้โอกาสนี้แสวงหาประโยชน์ และเป็นช่องว่างให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริต

จากการลงพื้นที่ของคอลัมน์หมายเลข 7 ยังพบว่า ที่อำเภอแม่สอด ยังเรื่องราวการเรียกรับส่วยของข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มชาวเมียนเพื่อแลกกับการอนุญาตให้ทำมาหากินโดยไม่ถูกจับ-ปรับ จนส่งผลกระทบกับคนไทยในพื้นที่ และกระทบกับความมั่นคงอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง