รทสช. ไม่ส่งแคนดิเดตชิงนายกฯ

View icon 56
วันที่ 6 ก.ค. 2566
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - การเมือง ต้องนับถอยหลังวันเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากนับจากวันนี้ เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น จะรู้แล้วว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร เหตุที่ต้องบอกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะว่านับจากวันที่ได้ประธานและรองประธานสภาฯ มีการวิเคราะห์ผลคะแนนออกไปหลายแนวทาง แต่ที่น่าจับตา คือความเคลื่อนไหวของฟากฝ่ายการเมืองอีกฝั่ง และ สว. ที่จะมีส่วนในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีด้วย

รทสช. ไม่ส่งแคนดิเดตชิงนายกฯ
เมื่อวานนี้ ความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะมีการเสนอชื่อนายกฯ แข่งกับ คุณพิธา เริ่มจากที่ คุณธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ บอกว่า จะมีการหารือ สส.ของพรรค เรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ในวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566 พร้อมกับตอบคำถามนักข่าวที่ถามว่าจะเสนอชื่อนายกฯ แข่งด้วยหรือไม่ ว่า การเสนอชื่อนายกฯ ถ้าย้อนไปในอดีต ก็มีคู่แข่งทุกครั้ง ในครั้งนี้ ก็ไม่แน่ ก็ต้องไปดูว่าแต่ละพรรคมีแนวทางอย่างไร คงมีการหารือกันภายในก่อน

ยังมีกรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บอกว่า ต่อไปจะมีการประชุมวิปในส่วนของขั้วรัฐบาลเพื่อให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมการโหวต ไม่ให้ผลออกมาเหมือนการโหวตรองประธานสภาฯ คนที่ 1

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวอีกจุดหนึ่งที่ดูมีนัยยะทางการเมือง คือการที่หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เมื่อวานนี้ โพสต์เฟซบุ๊กวันเดียวถึง 3 โพสต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ คุณพีระพันธุ์ โพสต์เฟซบุ๊กวันเดียวหลายโพสต์ แต่โพสต์ที่มีนัยยะสำคัญ คือโพสต์สุดท้ายของเมื่อวาน ที่โพสต์ไว้ว่า "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ขอสู้ศึกทุกเมื่อไม่หวั่นไหว ขอทนทุกข์รุกโรมโหมกายใจ ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง"

มาถึงตรงนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองเห็นความเป็นไปได้ ที่ในวันโหวตนายกรัฐมนตรี 13 กรกฎาคม 2566 อาจจะไม่ใช่การโหวตเลือก คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียงคนเดียว แต่ขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน อาจจะเสนอชื่อโหวตแข่งด้วย

แต่ว่าในวันนี้ คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรค ใจความสำคัญบางส่วน ระบุว่า "การโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีกระแสข่าวว่า รวมไทยสร้างชาติจะส่ง คุณพีระพันธุ์ฯ แข่งกับ คุณพิธาฯ นั้น ไม่เป็นความจริงครับ ผมเองอยากเห็น คุณพีระพันธุ์ เป็นนายกฯ และเชื่อว่าท่านจะเป็นนายกฯ ที่ดี เพราะท่านเป็นนักการเมืองนํ้าดี สุจริต เที่ยงธรรม แต่ต้องยอมรับว่าพรรคเรามีเพียง 36 เสียง ไม่พอที่จะไปเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และ คุณพีระพันธุ์ กับผม ก็ไม่เคยมีความคิด และไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาฯ อย่างเด็ดขาด ถึงจะตั้งไปก็อยู่ไม่ได้ครับ"

ในโพสต์ คุณเอกนัฏ ปฏิเสธด้วยว่า "ผมขอปฏิเสธชัด ๆ ไปเลย ว่า "เราไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย" หากจะต้องเป็นฝ่ายค้านก็เป็นครับ คุณพีระพันธุ์ ผม และเพื่อน สส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ติดใจ การจะได้เป็นรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน ไม่สำคัญไปกว่าการรักษาจุดยืนของเราครับ เราจะทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ สร้างความมั่นคงให้ชาติ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ผดุงความยุติธรรม ให้ความเป็นธรรม แต่จะไม่แก้ 112 ไม่เปลี่ยนวันชาติ ไม่แบ่งแยกดินแดน เราจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้วยการเสริมเติมต่อจากสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้วในประเทศของเราครับ"

นายกฯ ไม่ตอบปมขั้วรัฐบาลเดิม เสนอชื่อแข่ง พิธา
ความคืบหน้าตำแหน่งประธานและรองประธานสภาฯ นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ก่อนเป็นประธานในพิธีมอบเงินรางวัล และแสดงความยินดีแก่นักกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 และการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่ ว่า ได้นำชื่อประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นทูลเกล้าฯ ไปเรียบร้อยแล้ว

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นการเมือง พลเอก ประยุทธ์ รีบชิงตอบว่า "การเมืองไม่มีคำตอบ nothing nothing" และเมื่อถามถึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ไม่ตอบพร้อมเดินออกจากโพเดียม

สภาฯ เตรียมพร้อมพิธีสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เตรียมนำพระบรมมาฉายาลักษณ์พร้อมกับธงพระปรมาภิไธย ธงชาติ และโต๊ะหมู่ตั้งดอกไม้ธูปเทียนแพ มาเตรียมไว้แล้ว เพื่อจัดสถานที่จัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว โดยในพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้เชิญพระบรมราชโองการมายังอาคารรัฐสภา โดยมีผู้ได้รับการแต่งตั้ง และข้าราชการระดับสูงของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมในพิธี ซึ่งมีกระแสข่าวว่า อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้

วางกรอบไทม์ไลน์ เลือกนายกฯ 3 ครั้ง
วันโหวตเลือกนายกฯ ที่กำหนดไว้วันที่ 13 กรกฎาคมนั้น วันนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานรัฐสภา และประธานสภาฯ ได้นัดเจ้าหน้าที่สภาฯ ที่เกี่ยวข้องประชุมวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมการประชุมรัฐสภา เลือกนายกฯ วันที่ 13 กรกฎาคม 2566

ถ้าการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ยังไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด ได้คะแนนถึง 376 เสียง อาจารย์ วันนอร์ ได้เตรียมนัดประชุมครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เบื้องต้น เป็นในวันที่ 19 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ต่อทันที เพราะเข้าใจว่า การจะเรียกประชุม สส. และ สว. 750 คนบ่อย ๆ ก็คงลำบาก ซึ่ง 3 วันนี้ก็เยอะแล้ว และคาดว่าจะได้นายกรัฐมนตรีแน่นอน

นายพิเชษฐ์ ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีถ้า วันที่ 13, 19 และ 20 กรกฎาคม 2566 ยังเลือกนายกฯ ไม่ได้ ว่า ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุม 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป ย้ำ 8 พรรค จะเป็นไปตาม MOU จะจับมือกันไป ก็เป็นการคุยภายใน 8 พรรค ว่าจะดำเนินการหาทางออกต่อไปอย่างไร

ส่วนประเด็นการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนเดิมมาซ้ำ ๆ ในที่ประชุมรัฐสภา ครั้งต่อ ๆ ไป ก็ขึ้นอยู่กับมติของรัฐสภา และจากการพูดคุยกับ สว. บางส่วน ก็พบ สว. มีเจตนาที่ดี อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลลุล่วงไปด้วยดี เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้เช่นกัน

เช็กเสียง สว. โหวตนายกฯ
แต่ว่าทีมข่าว "ข่าวเย็นประเด็นร้อน" จับความเคลื่อนไหวของฝั่ง สว. แล้ว ถือเป็นตัวแปรสำคัญจริง ๆ ที่จะหากเทเสียงไปทางไหน ทางนั้นก็มีโอกาสเป็นนายกฯ ซึ่งจากการโทรศัพท์เพื่อนัดหมายสัมภาษณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ สว. หลายท่าน ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ ให้เหตุผลว่า เหลือเวลาเพียง 7 วัน จะถึงวันโหวตนายกฯ แล้ว ดังนั้น จะขอเก็บไว้ในวันโหวตทีเดียว

จากการสอบถาม พบว่า สว. หลายคน ยังกังวลการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหาก พรรคก้าวไกล ไม่แสดงจุดยืน ว่าจะไม่แตะมาตรานี้ ก็คงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ คุณพิธา ไปไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ แต่มีส่วนหนึ่งยังแทงกั๊กขอตัดสินใจในวันโหวต

ส่วน สว. กลุ่มเดิม ที่เคยจะโหวตให้ คุณพิธา ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม เช่น นายมณเฑียร บุญตัน, นายวันชัย สอนศิริ, นายอำพล จินดาวัฒนะ แต่มี 1-2 คน ที่เปลี่ยนใจ ไม่โหวตให้แล้ว อย่าง นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ที่ยอมรับ ว่าเปลี่ยนใจไม่โหวตให้ เพราะเมื่อดูรายละเอียดในร่างแก้ไขมาตรา 112 รู้สึกไม่สบายใจ แต่หาก คุณพิธา ยอมยกเลิกการแก้ไขมาตรานี้ ก็พร้อมจะโหวตให้ และ สว. หลายคนก็เป็นเช่นนี้ ซึ่งตั้งแต่เปิดประชุม สว. มา ก็มีการพูดคุยเรื่องนี้มาโดยตลอด ดูเสียงตอนนี้ มีเหลือแค่ประมาณ 10 คน ที่จะสนับสนุน คุณพิธา

ส่วน สว. ทรงเดช เสมอคำ ยังคงยืนยันว่า โหวตให้ คุณพิธา แต่เชื่อว่า คุณพิธา จะได้เสียง สว. ไม่เพียงพอ หากไม่ประกาศว่าจะไม่แตะต้องมาตรา 112 

อีกท่านหนึ่ง พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ให้ความเห็นว่า สว. มีวุฒิภาวะมากพอ ที่จะตัดสินใจลง หรือ ไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคย ศรัทธา หรือ ผลประโยชน์อื่นใด พิจารณาเลือกเพื่อให้บริหารประเทศที่เขารัก เพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานในอนาคต

ดรามา! เล็งร้อง ศิริกัญญา ยิ้มระหว่างปฏิญาณตน
ปิดท้ายที่ประเด็นดรามา ภายหลังโลกโซเชียลมีการแชร์คลิป นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยิ้มระหว่างปฏิญาณตนครั้งแรก ในรัฐสภานั้น ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.) เตรียมยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบ นางสาวศิริกัญญา เนื่องจากมีการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ระหว่างปฏิญาณตน โดยการแสยะยิ้ม และหันไปเล่นกับ นายพิธา

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 115 บัญญัติว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ สส. และ สว. ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภา ด้วยถ้อยคำ แต่เมื่อมีพฤติกรรมดังกล่าว จึงต้องการให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรมเร่งด่วน

ศิริกัญญา แจงปมยิ้มระหว่างปฏิญาณตน
นางสาวศิริกัญญา ชี้แจงกับทีมข่าวว่า ปกติช่วงปฏิญาณตน จะมีประธานสภาฯ เป็นผู้กล่าวนำ ซึ่งช่วงเกิดเหตุ พอพูดจบวรรคแรกแล้ว ก็รอประธานกล่าวนำในวรรคต่อไป แต่กลับได้ยินเพื่อน ๆ สมาชิก กล่าวปฏิญาณด้วยตัวเองไปแล้ว พอเงยหน้าขึ้นมาดู จึงเห็นเจ้าหน้าที่สภาฯ ทำท่าให้หยุด จึงชะงักไป แล้วหันไปสะกิด นายพิธา ว่า ต้องให้ประธานพูดกล่าวนำก่อนหรือไม่