สำรวจความเห็น ครู-นักเรียน หลังปลดล็อก ชุดนักเรียน-ทรงผม

View icon 235
วันที่ 29 มิ.ย. 2566
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - โรงเรียนในสังกัด กทม. เตรียมประชุมวางแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของ กทม. ที่มีหนังสือแจ้งให้ทุกโรงเรียนในสังกัด อนุโลมให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในขณะที่ทั้งนักเรียน และผู้ปกครอง ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับนโยบายนี้ 

หลังจากที่ กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. มีหนังสือแจ้งไปยัง 437 โรงเรียน ในสังกัด ให้มีการอนุโลมให้นักเรียนสามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นั้น

ทีมข่าวเช้านี้ที่หมอชิต ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นและความพร้อมของโรงเรียนในสังกัด กทม. โดยผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเขตพญาไท บอกว่า ทางโรงเรียนยังไม่ได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องนี้ และยังไม่ได้มีการประกาศให้นักเรียนรับทราบอย่างเป็นทางการ แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวก็มีความกังวลอยู่บ้างว่าหากเด็กแต่งชุดมาเรียนไม่เหมือนกันจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป แต่ในฐานะครู ยินดีปฏิบัติตามนโยบายของ กทม.เต็มที่

ขณะที่ ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตจตุจักร บางคนบอกว่า หากโรงเรียนให้นักเรียนแต่งชุดไพรเวต หรือชุดอะไรก็ได้มาโรงเรียน ก็เป็นห่วงว่าต่อไปอาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมแข่งขันกันในเรื่องชุดแต่งกาย ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นหรือไม่

ขณะที่ผู้ปกครองอีกคนบอกว่า เห็นด้วยกับนโยบายนี้มาก มองว่าชุดที่เหมาะสมและเด็ก ๆ ชอบใส่ คือชุดกีฬา เช่น ชุดฟุตบอล ซึ่งแต่งได้ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเด็ก ๆ จะได้ไม่ร้อน ที่สำคัญคือผู้ปกครองจะประหยัดเวลาไปมากในการเตรียมชุดให้กับบุตรหลาน และจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีก  

เช่นเดียวกับนักเรียน ที่มีทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับนโยบายนี้ คนที่เห็นต่างมองว่าแต่งชุดนักเรียนก็ดีอยู่แล้ว เพราะเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ส่วนคนที่เห็นด้วยมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะได้แต่งชุดที่ใส่แล้วไม่ร้อนมาเรียน

ในขณะที่ นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.เริ่มมีแนวคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ ๆ โดยผ่านการหารือกับตัวแทนนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียนต่าง ๆ มาแล้ว เป็นเรื่องของยุคสมัย หาก กทม.ไม่ปรับตัวก็อาจจะเกิดแรงต้านได้ โดยหัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่เรื่องสิทธิมนุษยชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแนวทางร่วมกัน

ส่วนผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายนี้ เชื่อว่าการพูดคุยหารือร่วมกัน โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนในการออกแบบแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เชื่อว่าจะช่วยให้การปฏิบัติตามแนวนโยบายนี้ของ กทม.สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีและสอดคล้องกับยุคสมัยในที่สุด ซึ่งหลังจากมีคำสั่งออกไปแล้วหลังจากนี้ก็จะมีการติดตามประเมินผล เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง