ปีนี้พนักงานจ่อลาออกเพิ่ม ร้องเงินเดือนขึ้น เชื่อองค์กรไปไม่รอด หากยังทำธุรกิจแบบเดิม

View icon 212
วันที่ 26 มิ.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผลสำรวจแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไทย พบว่าปีนี้ พนักงานจ่อลาออกเพิ่ม เรียกร้องเงินเดือนขึ้น เชื่อว่าองค์กรของตนจะไปไม่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า  หากยังยึดติดกับการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม  ภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือ

วันนี้ (26 มิ.ย.2566)   บริษัทไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์  (PwC)  เปิดเผยรายงานผลสำรวจ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2566 โดยรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 19,500 คน พบว่า 39% เชื่อว่า องค์กรที่ตนทำงานอยู่จะไม่สามารถอยู่รอดได้มากกว่า 10 ปี หากยังยึดติดกับการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ขณะที่  53% ของซีอีโอในภูมิภาค มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันในรายงานผลสำรวจซีอีโอ ประจำปี 2566 ซึ่งถือเป็นการยืนยันว่า ผู้นำธุรกิจจะต้องเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านบุคลากร

6 ปัจจัยหนุนความพร้อมสร้างองค์กรใหม่
ผลสำรวจยังระบุว่า มี 6 ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนความพร้อมในการปรับสร้างองค์กรในรูปแบบใหม่ ประกอบไปด้วย ความอยู่รอดของธุรกิจ ความรู้สึกของพนักงาน ทักษะกำลังแรงงาน เทคโนโลยีใหม่ สภาพแวดล้อมการทำงาน และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ผลลัพธ์เหล่านี้ ถือเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับบริษัทต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งหลายแห่งกำลังต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและความสามารถมานานหลายปี

พนักงานมีแนวโน้มลาออก/ขอขึ้นเงินเดือนเพิ่ม
ผลสำรวจยังพบว่า ประมาณ 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า  เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565 โดยจำนวนผู้ที่ต้องการลาออกนั้น สูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (เจนซี และมิลเลนเนียล) พนักงานระดับอาวุโส และพนักงานที่ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ประมาณ 40% ยังมีแนวโน้มที่จะขอขึ้นเงินเดือน หรือเลื่อนตำแหน่งภายในระยะเวลาเดียวกัน

ต้องปรับทักษะแรงงานถึงอยู่รอด
จากพนักงานที่ตอบแบบสำรวจมีเพียง 44% ที่เชื่อว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีเพียง 48% เท่านั้นที่เข้าใจอย่างชัดเจนว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร   ซึ่งหากพนักงานไม่เตรียมตัวหรือเข้าใจว่าข้อกำหนดในการทำงานนั้นอาจเปลี่ยนไป พวกเขาก็จะไม่สามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือกับอนาคตได้อย่างเพียงพอ

ทักษะที่บุคลากรต้องเร่งปรับ
ทั้งนี้ พนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้จัดอันดับให้ทักษะด้านบุคลากร เช่น ความสามารถในการปรับตัว/ความยืดหยุ่น (69%) การทำงานร่วมกัน (67%) และการคิดวิเคราะห์ (66%) อยู่เหนือทักษะด้านเทคนิค หรือธุรกิจหลัก อย่างไรก็ตาม ยังมีทักษะอื่น ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ โดยน้อยกว่าครึ่ง (48%) รู้สึกว่า นายจ้างให้โอกาสตนในการใช้ทักษะอย่างมีประสิทธิภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังแรงงานอาจมีทักษะที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้

แรงงานมองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในเชิงบวก
จากผลสำรวจพบว่า แรงงานทั่วทั้งภูมิภาคเข้าใจถึงประโยชน์ของเอไอ โดย 41% กล่าวว่า เอไอจะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน และ 34% มองว่า เป็นโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ 22% ยังขาดความมั่นใจในการเสริมสร้างทักษะที่เกี่ยวกับเอไอ นอกจากนี้ 16% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า เอไอจะเข้ามาทดแทนงานของพวกเขา ขณะที่แรงงานในอัตราร้อยละที่เท่ากันก็รู้สึกว่า เอไอจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม ตลอดจนบริการทางการเงิน มองเห็นศักยภาพสูงสุดในการปรับปรุงความสามารถในการผลิตด้วยเอไอ ขณะที่พนักงานในกลุ่มสุขภาพและภาครัฐมีความมั่นใจสูงสุดว่า เอไอจะไม่เข้ามาทดแทนบทบาทหน้าที่ใด ๆ ของตน
ในขณะที่กำลังแรงงานยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป การเป็นผู้นำในรูปแบบใหม่จึงมีความจำเป็นต่อการนำพาองค์กรไปสู่เส้นทางแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ รายงานของเรา ได้นำเสนอข้อควรพิจารณาหลายประการสำหรับนายจ้างและผู้นำองค์กรในการทำความเข้าใจบุคลากรของตนให้ดีขึ้น ปลดล็อกความสามารถให้เพิ่มขึ้น และบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

แรงงานไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนงานสูง
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานพบว่า 79% ของกำลังแรงงานไทยที่ตอบแบบสำรวจ มีความพึงพอใจมากหรือปานกลางกับงานของตน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียแปซิฟิกที่ 57% อย่างไรก็ดี บุคลากรเหล่านี้ยังคงมีความต้องการจะเปลี่ยนงานมากขึ้นเช่นกัน โดย 30% กล่าวว่า ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปีก่อน ขณะที่ 70% เชื่อว่า ทักษะในการทำงานของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอีกห้าปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในภูมิภาค (เปรียบเทียบกับ 44% ของเอเชียแปซิฟิก) และ 77% มองว่า ทักษะด้านดิจิทัลจะมีความสำคัญต่ออาชีพของพวกเขาเป็นอย่างมาก

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่กำลังแรงงานไทยมีทัศนติเชิงบวกต่องานของตนมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกน่าจะมาจากสามปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้
1.แรงงานไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน อีกทั้งยังสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งได้รับการยอมรับจากหัวหน้างาน เห็นได้จากผลจากการสำรวจด้านการยอมรับและความสามารถในการเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริงในสถานที่ทำงาน และการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและความยุติธรรมของไทยที่สูงกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (70% ของไทย เทียบกับ 52% ของเอเชียแปซิฟิก และ 71% ของไทย เทียบกับ 53% ของเอเชียแปซิฟิก ตามลำดับ)
2.แรงงานไทยเห็นว่างานที่พวกเขาทำอยู่เชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ขององค์กรและเป้าหมายส่วนบุคคล ทำให้รู้สึกว่างานที่ตนทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย โดย 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า งานของพวกเขาสามารถเติมเต็มจิตใจได้ สูงกว่าเอเชียแปซิฟิกที่ 51%
3.แรงงานไทยมองเห็นความก้าวหน้าและโอกาสในการเรียนรู้เพื่อเติบโตในสายอาชีพและพัฒนาตัวเองในสถานที่ทำงาน ซึ่งตรงกับอุปนิสัยของเจ็นวายและเจ็นซีที่ชอบเรียนรู้ และลองทำสิ่งใหม่ ๆ

“แม้ว่าแรงงานไทยจะพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่ แต่เรายังคงต้องเผชิญกับกระแสการลาออกครั้งใหญ่ต่อไป และดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้นด้วย เพราะพนักงานส่วนมากต้องการงานที่เพิ่มรายได้ให้กับตัวเองเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุก ๆ ปี ด้วยเหตุนี้ นายจ้างจะต้องวางกลยุทธ์และยุทธวิธีต่าง ๆ ในการรักษาทาเลนต์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ให้โอกาสในการเรียนรู้และการแสดงความสามารถ ยกระดับทักษะด้านดิจิทัล และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเชื่อมโยงเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานกับเป้าหมายขององค์กร โดยองค์กรจะต้องแสดงค่านิยมหลักที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะนี่จะเป็นรากฐานในการดึงดูดทาเลนต์ในระยะยาว” ดร.ภิรตา กล่าว