วันนี้ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ธนาธร ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ และพรรคอนาคตใหม่จะเป็นเเกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก่อนเจอมรสุมการเมือง

View icon 837
วันที่ 16 พ.ค. 2566
ข่าวช่อง7HD
แชร์
ย้อนเรื่องเล่า วันนี้ 16 พฤษภาคม เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ และพรรคอนาคตใหม่จะเป็นเเกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก่อนเจอมรสุมการเมือง

และหากย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คือวันเลือกตั้ง ครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557 พรรคอนาคตใหม่ มี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นเลขาธิการพรรค ได้ สส.แบบแบ่งเขตมากเป็นลำดับ 3 คือ 26 ที่นั่ง ได้คะแนนเสียงในกรุงเทพฯ มากที่สุด ในขณะนั้น พรรคอนาคตใหม่ขณะนั้นมี สส.ในสภาฯ รวม 81 คน ซึ่งเป็นอันดับที่ 3 ในสภาฯ รองจากเพื่อไทย ซึ่งมี สส.129 คน และพลังประชารัฐ  มี สส.116 คน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่ได้ สส. ในสภา มากเป็นอันดับ 1 แต่สามารถรวมเสียง สส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ ร่วมตั้งรัฐบาล เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคเล็กที่มี สส. 1 คน กว่า 10 พรรค จัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค

ต่อมา 5 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ สว.250 เสียง มีที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. มีสิทธิร่วมโหวตด้วย ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นการแข่งกันระหว่างแคนดิเดตนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งผลโหวตออกมาปรากฎว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับคะแนนโหวต 500 คะแนน มากกว่ากึ่งหนึ่ง จึงถือว่าได้รับมติของสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ 244 คะแนน

หลังจากนั้น วันที่ 23 พ.ค.2562 ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคุณสมบัติของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือครองหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดียจำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสื่อเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6 )ประกอบมาตรา 98 (3)

ต่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี โดย ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 72 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุ ไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การกู้เงินนายธนาธร ของพรรคอนาคตใหม่ เข้าข่าย การกระทำความผิดตามมาตรา 72 พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหาร ที่เป็นกรรมการบริหารตั้งแต่วันที่ทำสัญญากู้เงิน จำนวน 16 คน เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค