ศาลแพ่ง ยกคำร้องไม่คุ้มครอง ”พรรคภูมิใจไทย” ขอให้สั่ง ”ชูวิทย์” หยุดป่วนเวทีปราศรัยใหญ่ ชี้ จำกัดสิทธิเกินควร

View icon 389
วันที่ 11 พ.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ศาลแพ่ง ยกคำร้องไม่คุ้มครอง ”พรรคภูมิใจไทย” ขอให้สั่ง ”ชูวิทย์” หยุดป่วนหาเสียง-ปราศรัยใหญ่ ชี้ จำกัดสิทธิเกินควร หากจำเลยทำผิด โจทก์ดำเนินคดีตามกฎหมายได้

จากกรณีพรรคภูมิใจไทย ส่งทนายยื่นฟ้อง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เรียก 100 ล้าน ฐานละเมิด ทำให้คะแนนนิยมพรรคลดลง กรณีเคลื่อนไหวที่ลานกีฬาฯ พร้อมขอศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามรบกวนการหาเสียง-ปราศรัยใหญ่ วันที่ 12 พ.ค.นี้นั้น

ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ค.) ศาลแพ่ง ได้พิเคราะห์คำร้องแล้ว เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 25 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำการใดๆ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น และเดินทางเข้าฟังการปราศรัยที่จัดขึ้นเป็นสาธารณะได้ การห้ามมิให้จำเลยเข้าใกล้บริเวณที่หาเสียงปราศรัยของโจทก์จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพของจำเลยเกินสมควร ทั้งยังไม่แน่ว่าจำเลยจะเข้าไปบริเวณพื้นที่หาเสียงปราศรัยของโจทก์ในวันที่ 12 พ.ค.66 และกระทำการก่อความวุ่นวายหรือไม่ หากจำเลยมีพฤติการณ์ที่จะก่อความวุ่นวายหรือเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตจนกระทบต่อเสรีภาพหรือความปลอดภัยของบุคคลอื่น ถึงขั้นที่เป็นการละเมิดกฎหมาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา และโจทก์สามารถที่จะดำเนินการตามกฎหมายกับจำเลย เพื่อระงับความเสียหายได้อยู่แล้ว จึงยังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้

ส่วนคำขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยกล่าว แถลงข่าว หรือพูดแสดงความคิดเห็นถึงโจทก์ และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโจทก์นั้น เป็นคำขอที่มีลักษณะห้ามมิให้จำเลยกล่าวหรือไขข่าวถึง เรื่องตามฟ้องอันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูดการเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและสื่อความหมายโดยวิธีอื่น อันมีลักษณะเป็นการทั่วไปต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 ซึ่งเป็นการไม่แน่นอนว่าจำเลยจะได้กล่าวอ้างหรือพูดแสดง ข้อความอันเป็นเท็จอันเป็นการใส่ความโจทก์หรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง จำเลยย่อมจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้องอยู่แล้ว อีกทั้งข้อความที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกล่าวหรือไขข่าวตามฟ้องนั้นยังไม่แน่ชัดว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งประชาชนโดยทั่วไปย่อมมีวิจารณญาณว่าสมควรเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองโจทก์หรือไม่ การจะสั่งห้ามจำเลยมิให้กระทำการใดในอนาคตที่ยังไม่แน่นอนว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยเกินสมควร กรณียังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ยกคำร้อง