สวยงาม กลุ่มดาวฤกษ์หลากหลายสีสันรวมตัวกันนับล้านดวง

View icon 138
วันที่ 19 เม.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ จับภาพดาวฤกษ์หลากสีสันนับล้านดวง กระจุกตัวรวมกันภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก ห่างจากโลก 50,000 ปีแสง

วันนี้ (19 เม.ย.2566)  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ได้โพสต์ภาพ กลุ่มดาวฤกษ์ระยิบระยับ  โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ได้นำภาพดวงดาวเจิดจรัสหลากสีสันภายใน  "NGC 6355"  กระจุกดาวทรงกลมที่อยู่ลึกเข้าไปภายในกาแล็กซีทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) และห่างจากโลกที่ระยะทาง 50,000 ปีแสง

กระจุกดาวทรงกลม (Globular Cluster) เป็นพื้นที่ที่ดาวฤกษ์ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านดวงรวมตัวกันด้วยแรงโน้มถ่วง มีแรงดึงดูดระหว่างกัน และมีประชากรดาวฤกษ์ที่หนาแน่น ทำให้มีการกระจายตัวเป็นทรงกลม บริเวณใจกลางจะเป็นบริเวณที่มีดาวฤกษ์รวมตัวกันหนาแน่นมากที่สุด และกระจายตัวอย่างประปรายบริเวณรอบนอก

ในภาพนี้เราจะเห็นสมาชิกดาวฤกษ์นับไม่ถ้วนที่ส่องประกายบริเวณใจกลางกระจุกดาว NGC 6355 เป็นผลงานจากการบันทึกโดยกล้องสำรวจขั้นสูง Advanced Camera for Surveys (ACS) และกล้องถ่ายภาพมุมกว้าง Wide Field Camera 3 (WFC3) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ด้วยความสามารถในการแยกภาพที่ทรงพลัง และมีจุดสังเกตการณ์ที่ได้เปรียบเนื่องจากลอยอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก จึงสามารถบันทึกภาพสมาชิกภายในกระจุกดาวทรงกลมได้คมชัดและมีความละเอียดสูง เทคโนโลยีนี้นับว่าปฏิวัติการศึกษากระจุกดาวทรงกลมไม่น้อย เนื่องจากการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินจะมีข้อจำกัดทางแสงที่ถูกบิดเบือนโดยชั้นบรรยากาศโลก ทำให้ได้ความละเอียดคมชัดน้อยกว่าการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง