ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ : ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

View icon 57
วันที่ 23 มี.ค. 2566
ประเด็นเด็ด 7 สี
แชร์
ประเด็นเด็ด 7 สี - ว่ากันด้วยเรื่องของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วันนี้นำความรู้มาฝากคุณผู้ชม ประโยชน์ของกองทุนได้ทั้งฝั่งนายจ้าง และลูกจ้าง ติดตามใน ประเด็นเด็ดเศรษฐกิจ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มนุษย์เงินเดือนต่างรู้จักกันดี ว่าเป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันสะสมเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินในอนาคต โดยเฉพาะยามเกษียณ ถือเป็นการออมแบบระยะยาว ที่น่าสนใจเลยทีเดียว ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง

พิจารณากันแบบผิวเผิน อาจจะเข้าใจได้ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีแต่ลูกจ้างเท่านั้นได้ประโยชน์ ประเด็นนี้เลยทำให้บรรดานายจ้าง ในประเทศ เพียง 4.3% ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้เป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งแท้จริงแล้ว นายจ้างก็ได้ประโยชน์จากกองทุนด้วยเช่นกัน เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่จูงใจผู้สมัครงาน ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้สมัครงานมากขึ้น เพราะเงินที่นายจ้างจะสมทบให้ เปรียบเสมือนได้รับเงินเดือนแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น แถมเงินก้อนนี้ยังมีการนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพเพื่อต่อยอดออกดอกผลในระยะยาว ส่งผลให้นายจ้างมีตัวเลือกผู้สมัครงานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังแสดงถึงภาพลักษณ์ของนายจ้างที่ดี ธุรกิจมีความมั่นคง แสดงให้เห็นว่านายจ้างกลุ่มนี้จะมีภาพลักษณ์ที่ดีในตลาดแรงงาน รวมทั้ง เป็นการรักษา หรือ ยืดระยะเวลาการร่วมงานได้ยาวนานขึ้นด้วย

ด้วยการทำความเข้าใจกับลูกจ้างให้คำนึงถึงจำนวนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่จะได้รับเพิ่มขึ้นหากยังคงทำงานต่อตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ เช่น ถ้าลาออกตอนนี้จะไม่ได้รับเงินสมทบเลย แต่ถ้าทำงานต่ออีก 1 ปี มีเวลาทำงานครบตามที่กำหนด จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์รวม 30% ของทั้งหมด ซึ่งถ้าลูกจ้างยินดีที่จะทำงานต่อก็เป็นสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งบางคนเค้าก็มองว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการออมเงินในอนาคตของเค้าด้วยเหมือนกัน 

แล้วที่บอกนายจ้าง ก็ได้ประโยชน์ มันคือแบบนี้ครับ นายจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตรงนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงที่นายจ้างจะได้รับ เพราะนายจ้างสามารถนำเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นทั้งจำนวน ส่งผลให้นายจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เสียภาษีน้อยลงกว่าเดิม สามารถประหยัดภาษีได้มากกว่านายจ้างที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสามารถนำเงินก้อนดังกล่าวไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจของตนได้ด้วย

ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก เว็บไซด์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณผู้ชมไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง หรือ นายจ้าง ก็เข้าไปศึกษารายละเอียดเชิงลึกได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง