โรงพยาบาลช้าง ระบุมีช้างเพื่อการท่องเที่ยวในไทย กว่า 3-4 พันเชือก เชื่อคนไทยรักและไม่ละเลยดูแลสวัสดิภาพช้าง

View icon 222
วันที่ 13 มี.ค. 2566
ข่าวในประเทศ
แชร์
โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ระบุมีช้างเพื่อการท่องเที่ยวในไทย กว่า 3-4 พันเชือก เชื่อคนไทยรักผูกพันและไม่ละเลยดูแลสวัสดิภาพช้าง  ต้องให้อยู่รอดไปด้วยกัน  ขณะที่มีผลงานวิจัยรองรับ แม้ช้างจะบรรทุกน้ำหนักมากเกินร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว  แต่จะไม่ทำให้การเดินผิดปกติ ส่วนกระดูกคดงอ มักเกิดจากอุบัติเหตุ

หลังมีกระแสดรามา ถกเถียงกัน เรื่องการใช้งานช้างเพื่อการท่องเที่ยวจนได้รับบาดเจ็บ ระหว่างเอ็นจีโอ และปางช้างแห่งหนึ่ง  รับ “วันช้างไทย” (13 มีนาคม 2566 ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์  รวมถึงข้อเท็จจริง ให้ประชาชนที่รักช้างได้เข้าใจ โดยระบุถึง “วัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง” “การใช้งานช้าง” และ “สวัสดิภาพช้าง” ว่า

ช้างเอเชีย มีถิ่นอาศัยในทวีปเอเชียตั้งแต่เอเชียใต้มาจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่ของช้างเอเชีย คนไทยจึงมีความผูกพันธ์กับช้างมาอย่างยาวนานก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของประเทศ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีการนำช้างซึ่งเป็นสัตว์ป่ามาใช้งานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากบรรพบุรุษของอีกหลายๆชาติ เช่น การนำม้าป่ามาใช้งานของชาวตะวันตกและการนำสุนัขป่ามาใช้งานในทั่วโลก ซึ่งสัตว์เหล่านี้ก็ได้มีการปรับตัวมาเป็นสัตว์เลี้ยงจนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของคนกับสัตว์ในแต่ละประเทศมาอย่างยาวนาน

กลับมาที่ช้างไทย ด้วยความที่ช้างมีขนาดตัวที่ใหญ่จึงมักถูกนำไปใช้งานที่ต้องการแรงมากๆซึ่งแรงของมนุษย์ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นพาหนะในศึกสงคราม ใช้แบกสิ่งของในการขนส่งระยะไกล ใช้ลากไม้ เป็นต้น ซึ่งการนำช้างป่ามาฝึกใช้งานนี้เป็นวิถีของคนไทยมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้ใช้คำว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการจับช้างป่ามาเพื่อใช้งานอีกแล้ว ช้างบ้านที่เราเห็นกันจนชินตาจึงเป็นลูกหลานที่เกิดขึ้นจากพ่อแม่ที่เป็นช้างบ้านทั้งสิ้น ช้างที่เราเห็นตามปางช้างต่างๆในปัจจุบันมีความคุ้นเคยกับคน ก็เพราะช้างเหล่านี้เห็นและอยู่กับคนมาตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลกนั่นเอง

จากฐานข้อมูลของสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ปัจจุบันประเทศไทยมีช้างบ้านราวๆ 3500 - 4000 เชือก ช้างส่วนมากทำงานในธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การแสดงโชว์ การนั่งช้างชมธรรมชาติ การป้อนอาหาร-อาบน้ำหรือแม้กระทั่งการเดินโชว์ตัวให้คนดูก็ถือเป็นการใช้งานช้างประเภทหนึ่งเช่นกัน พูดได้ว่าช้างบ้านไทยเป็นอีกจุดหมายที่สำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพราะช้างบ้านไทยมีความคุ้นเคยกับคน สามารถจับต้องใกล้ชิดได้ รวมถึงการที่มีช้างอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างแยกไม่ได้ก็เป็นเสน่ห์สำคัญ ที่ทำให้ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทย อย่างไรก็ตามเหรียญมักมีสองด้านเสมอ เมื่อมีคนสนับสนุนการใช้ช้างในการท่องเที่ยว แน่นอนว่าก็มีคนต่อต้านด้วยตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

ปัญหาการใช้งานช้างของไทยก็เหมือนคำถามที่ว่า “ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน?” ถ้าให้คน 2 กลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างกันสุดขั้วมานั่งเถียงกันโดยไม่มีใครยอมใครแล้ว ให้เวลาเท่าไหร่ก็คงไม่พอ แต่นอกจากถกเถียงเรื่องการใช้งานช้างแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราละเลยไม่ได้หากยังอยากได้ชื่อว่าเป็นคนไทยที่รักช้างก็คือการให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของช้าง ในเมื่อปัจจุบันเรายังต้องมีการใช้งานช้างอยู่ เพราะช้างเองก็ยังต้องกินต้องใช้เหมือนคน ช้างจึงต้องการ work-life balance และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีนอกเหนือเวลางานไม่ต่างจากคนเราเช่นกัน

ปัจจุบันมีนักวิชาการจำนวนมากที่ทำการศึกษาถึงชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ สวัสดิภาพและการใช้งานช้างบ้านของไทย ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามหาจุดเหมาะสมที่จะทำให้ช้างไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในขณะที่วิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของไทย ก็ยังไม่ถูกทำลายและคนเลี้ยงช้างเองก็ยังสามารถอยู่รอดเพื่ออนุรักษ์วิถีนี้สืบต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่สนใจ ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pakkanut Bansiddhi ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ ว่าด้วยเรื่องของการขี่ช้าง…

เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวในปางช้างที่มีมายาวนาน ก่อนใช้งาน ควาญจะเอาวัสดุรองหลัง เช่น แผ่นเปลือกต้นปุย กระสอบ แผ่นฟองน้ำ วางบนหลังช้างให้หนาพอควร จากนั้นเอาเก้าอี้ที่เรียกว่า แหย่ง วางลงไป จากนั้นเอาสายรัดแหย่งให้ติดกับตัวช้างโดยคล้องกับคอ อก และหาง พอแต่งตัวเรียบร้อยควาญจะนั่งบนคอช้างแล้วขี่ไปรับนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งบนแหย่งขนาดพื้นที่สำหรับ 1-2 คน ควาญควบคุมช้างให้ออกเดินไปตามเส้นทางธรรมชาติ แต่ละรอบใช้เวลา 15-30 นาที ระยะทาง 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตร เมื่อเดินถึงจุดหมายก็ให้นักท่องเที่ยวลงจากแหย่ง ช้างพักและรอบรรทุกนักท่องเที่ยวท่านต่อไป

ประเด็นที่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1. การให้ช้างบรรทุกน้ำหนักร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัวช้าง ไม่ทำให้พบรูปแบบการเดินที่ผิดปกติ
2. การสำรวจช้างในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่งจำนวน 200 ตัวอย่าง เมื่อปี 2018 พบว่ามีช้าง 5 ตัวอย่างมีแผลที่หลังที่อาจเกิดจากการใส่แหย่ง และมีช้าง 4 ตัวอย่างมีแผลที่อกที่อาจเกิดจากสายรัดแหย่ง
ประเด็นที่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ
1. การขี่ช้างทำให้กระดูกสันหลังของช้างงอ
2. การขี่ช้างเป็นระยะทางเท่าใด ลักษณะเส้นทางแบบใด จึงส่งผลเสียต่อตัวช้าง
ช้างที่มีกระดูกสันหลังงออาจเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
1. อุบัติเหตุ การกระแทก
2. ความผิดปกติมาแต่กำเนิด
3. ภาวะขาดแคลเซียม
การซักประวัติจากเจ้าของช้างและควาญที่เคยเลี้ยงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ

ความคิดเห็นตามประสบการณ์ส่วนตัว
ไม่พบข้อสังเกตและไม่เคยได้รับแจ้งจากเจ้าของช้างหรือควาญช้างว่าช้างที่ใช้บรรทุกนักท่องเที่ยวในโปรแกรมขี่แบบใส่แหย่งมาเป็นระยะเวลานานหลายปีนั้นมีโครงสร้างของกระดูกสันหลังที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วไป น้ำหนักของแหย่ง (15-25 กิโลกรัม) วัสดุรองหลัง (ประมาณ 50 กิโลกรัม) และนักท่องเที่ยวจำนวน 2 คน (ประมาณ 150 กิโลกรัม) ที่บรรทุกบนหลังช้าง รวมแล้วน้ำหนัก 225 กิโลกรัม หรือประมาณร้อยละ 7.5 ของน้ำหนักตัวช้าง ช้างจึงรับน้ำหนักไม่ถึงร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว อย่างไรก็ตาม เคยเจอปัญหาหลังช้างบวมอักเสบ ช้างส่ายหลังเพราะปวดหลัง ในกรณีใช้ช้างบรรทุกนักท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง และในกรณีขาแหย่งไม่พอดีกับหลังช้าง เนื่องจากช้างแต่ละเชือกมีความโค้งของหลังไม่เท่ากัน, เคยเจอปัญหาแผลที่เกิดจากสายรัดแหย่งบาดที่อก คอ หรือหาง เมื่อรัดแหย่งแน่นเกินไป สายรัดแหย่งเสื่อมสภาพ มีทรายเข้าไปอยู่ใต้สายรัดแหย่ง ซึ่งปางช้างต่างรู้ดีว่าการจัดการที่ไม่ดีเหล่านี้ส่งผลเสียต่อตัวช้าง แต่คนเลี้ยงช้าง ใช้งานช้าง ไม่ใช่ไม่รักช้าง เมื่อพบปัญหาปางช้างพยายามป้องกัน พัฒนา ปรับปรุง ลองผิดลองถูก มานานหลายปี ทั้งเพราะไม่อยากให้ช้างที่เขารักเจ็บป่วย และเพราะอยากให้ช้างเขาพร้อมใช้งาน รับนักท่องเที่ยวได้ต่อเนื่อง ช้างเจ็บป่วยใช้งานไม่ได้เขาก็ขาดรายได้ไป

สิ่งที่อยากแนะนำ
1. สำหรับปางช้างที่มีโปรแกรมขี่ช้างแบบใส่แหย่ง
- ควรจำกัดจำนวนและน้ำหนักของนักท่องเที่ยวตามขนาดของตัวช้าง
- ควรออกแบบแหย่งให้มีน้ำหนักเบาและเหมาะสมกับสรีระของหลังช้างแต่ละเชือก
- ควรรองแหย่งด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ไม่ระคายเคืองผิวหนังที่หลังช้าง
- ควรจำกัดระยะเวลาบรรทุกนักท่องเที่ยวต่อวัน
- ควรมีช่วงเวลาพักระหว่างรอบการบรรทุก
- ควรเลี่ยงการเดินในทางลาดชัน
- ควรเลือกใช้สายรัดอก คอ และหาง ที่ไม่บาดผิวหนังของช้าง และไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ควรหยุดการใช้งานทันทีหากพบอาการผิดปกติและแจ้งสัตวแพทย์
- ควรคัดเลือกช้างที่โตเต็มวัยแล้ว มีโครงสร้างร่างกายและการเดินเป็นปกติ
2. สำหรับทุกปางช้างไม่ว่าจะใช้งานช้างในรูปแบบกิจกรรมใด หรือสถานที่ที่มีช้างอยู่ในความดูแลอื่นใด

ควรให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของช้างในทุกด้าน อาหารการกิน ที่พักอาศัย สุขภาพ พฤติกรรม และจิตใจความรู้สึก ไม่ใช่ให้ความสำคัญเพียงเฉพาะขี่หรือไม่ขี่ ใช้หรือไม่ใช้ตะขอ ล่ามหรือไม่ล่ามโซ่ ปางช้างไหนที่ทำได้อยู่แล้ว บางแห่งทำได้มานานแล้ว ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป ปางไหนกำลังพัฒนาอยู่ก็ขอสนับสนุน วันช้างไทย 13 มีนาคม 2566จะช่วยช้างไทยตามความรู้และกำลังที่มี


ขอบคุณเฟซบุ๊ก: โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC
ขอบคุณเฟซบุ๊ก: Pakkanut Bansiddhi