ผู้บริหาร CIMB THAI ถอดบทเรียน SVB ล้ม ชี้อาจไม่ลามเหมือนวิกฤตปี 2008 แต่เตือนนักลงทุน “อย่าใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าใบเดียว”

View icon 211
วันที่ 13 มี.ค. 2566
ข่าวในประเทศ
แชร์
วันนี้ (13 มี.ค. 66) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ปัจจัยที่ SVB ล้มและจะลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้หรือไม่ โดยมีเนื้อหาว่า มุมมองจาก ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
1. SVB คือใคร
SVB หรือ Silicon Valley Bank เป็นแบงก์ใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ โดยมาทำธุรกิจกับกลุ่ม Start up หรือกลุ่มเทค ล่าสุดในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ถูกสั่งปิดโดย FDIC หรือ Federal Deposit Insurance Corp. คล้ายๆ หน่วยงานคุ้มครองเงินฝาก (แต่คุ้มครองเพียง 250,000 ดอลลาร์ ซึ่งมีเพียง 3%ของบัญชีในแบงก์นี้ (อีกราว 97% มีเงินมากกว่าและยังไม่จ่ายส่วนที่เหลือคืนจนกว่าจะขายทรัพย์สินได้ ลองนึกภาพธุรกิจจะจ่ายคู่ค้าหรือพนักงานยังไง)
2. ทำไมล้ม
ปัญหาของแบงก์นี้คือเกิดจากความน่าเชื่อถือ เกิด bank run หรือคนไม่มั่นใจแห่ถอนเงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มาจาก partners ที่เป็น Private Equity, Venture Capital, Tech, Health tech แค่วันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. วันเดียวมีคนถอนเงินฝากไปราว 1ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด แบงก์ขาดกระแสเงินหมุนเวียน เจอปัญหาสภาพคล่องจนลามเป็นปัญหาล้มละลาย FDIC จึงต้องมาระงับกิจการ โอนเงินฝากให้แบงก์ที่จะจัดตั้งใหม่ ขอย้ำว่าวิกฤตินี้ไม่เหมือนปี 2008 ตอนเลห์แมนล้ม ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหา ตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่อง จากดอกเบี้ยขาขึ้นและขาดการบริหารที่ดีด้านระยะเวลาเงินฝากและสินเชื่อ

3. ทำไมคนไม่ไว้ใจ
อยู่ๆ ราคาหุ้นร่วงลง 60% ในวันเดียวจากความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมาก เพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จริงๆ ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน (แต่ต้องรับรู้ Fair Value ผ่าน Balance sheet)  เรียกว่า unrealized loss คือราคาพันธบัตรลดลงต่ำว่าหน้าตั๋ว เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้นแรง ราคาพันธบัตรที่สวนทางกับดอกเบี้ยที่ขึ้นจะลดลง เมื่อ SVB ต้องการเงินก็จำเป็นต้องขายขาดทุน พอขาดทุนก็ต้องการเงิน ไปขอเพิ่มทุน คนก็กลัวเทขายหุ้น คนฝากก็ panic ตกใจถอนเงิน จนเป็นภาวะปิดตัวเช่นนี้ และอีกประเด็นที่ทำไมขาดเงินก็เพราะธุรกิจเทคในสหรัฐ โดยเฉพาะเทคตัวเล็กขาดทุนอยู่มาก ยังไม่มีกำไรหรือกระแสเงินสดดี พอดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องยิ่งมีปัญหา กระทบแบงก์นี้ไปด้วยที่เน้นธุรกิจกลุ่มนี้
4. จะลามไหม
ในช่วงวันพุธที่ 8 มี.ค.ถึงวันพฤหัสบดีที่ 9 มี.ค. เราเห็นราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับย่อลงเพราะความกังวลว่าจะมีแบงก์อื่นล้มด้วยไหม แต่ปัญหานี้น่าอยู่ในแบงก์ขนาดเล็กที่เน้นกลุ่มเทคหรือ start up เป็นหลัก ซึ่งต่างกับแบงก์ใหญ่ ในวันศุกร์แล้วหุ้นแบงก์ใหญ่ฟื้น แต่แบงก์เล็กลงต่อ โดยรวมไม่น่าลาม โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดี ยังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากเฟดได้ แต่อาจมีแบงก์ที่มีปัญหาเพิ่ม ในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐ จนราคาพันธบัตรลดลง (จริงๆ ถ้าถือจนครบอายุสัญญาจะไม่ขาดทุน) ต้องดูว่าใครร้อนเงินอีก หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤติศรัทธาบ้าง (หลักๆ คงจะเป็นธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับกลุ่มเทค ที่ลงทุนใน Crypto ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ทางการสหรัฐฯนำโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และองค์กรประกันเงินฝากในสหรัฐฯ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดย 1) ประกาศรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร SVB  โดยผู้ฝากเงินจะสามารถเข้าถึงเงินทั้งหมดของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม เป็นต้นไป และจะไม่สูญเสียผลประโยชน์แต่อย่างใด 2) ประกาศข้อยกเว้นความเสี่ยงเชิงระบบที่คล้ายคลึงกันสำหรับ Signature Bank ซึ่งผู้ฝากเงินจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆเช่นกัน 3) ประกาศจัดหาเงินกองทุนพิเศษให้กับ FDIC เพื่อให้มีเพียงพอในการสร้างความมั่นใจให้กับระบบธนาคารของสหรัฐฯ  จากสถานการณ์ล่าสุด เราจึงเห็นตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตอบสนองต่อมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว
5. ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนอย่างไร
ตลาดหุ้นน่าจะยังผันผวนจากความกังวลว่าจะมีแบงก์ไหนเป็นรายต่อไปที่ล้ม หรืออย่างน้อยก็ห่วงการลงทุนในกลุ่มการเงินไว้ก่อน รวมทั้งกลุ่มเทคขนาดเล็กที่คนอาจกังวลปัญหาขาดเงินทุน โดยเฉพาะช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้
6. จะเกิดการว่างงานรุนแรงหรือไม่
ปัญหาการว่างงานในสหรัฐ หากจะเพิ่มขึ้น ก็น่ากระจุกในกลุ่มเทคที่จะมีการเลิกจ้างเพิ่มเติม แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำต้นทุนสูงตาม รายได้โตไม่ทัน ต้องหาทางลดรายจ่าย ลดคน แต่ไม่น่ารุนแรงไปกระทบภาคอื่นมาก สหรัฐยังไม่อัตราการว่างงานต่ำ แม้ขยับเป็น 3.6% แต่ก็นับว่าต่ำมาก โดยเฉพาะยังมีการเติบโตของค่าจ้างในกลุ่มภาคบริการมาก หาคนทำงานยาก ปัญหานี้ยังลากยาว ไม่น่าส่งผลให้คนว่างงานมากขึ้นจากกรณี SVB ล้ม
7. เงินเฟ้อมีโอกาสลดลงหรือไม่หากเศรษฐกิจมีปัญหา
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีโอกาสลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 8% ปีนี้น่าอยู่ที่ราว 4% แต่หากจะลดลงแบบเดือนต่อเดือน คงยาก เพราะอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น บริษัทยังต้องขยับราคาสินค้าเพิ่ม และการคาดการณ์ราคาสินค้ายังสูง แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหา ชะลอลงแรงจริง อัตราเงินเฟ้อก็อาจลดลงได้บ้าง แต่ไม่น่าลงได้เร็วเหมือนในอดีต เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ห่วงโซ่อุปทานยังมีปัญหา
8. เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรอบเดือนมีนาคมหรือไม่และจะจบรอบเร็วขึ้นได้ไหม หากเฟดจะลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ไม่ขึ้น 0.50% แต่ขึ้นเพียง 0.25% และระดับดอกเบี้ยสูงสุดอาจอยู่ที่ระดับ 5.75% ไม่ใช่ไปแตะระดับ 6.00% และใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มของค่าจ้างไม่ร้อนแรง การขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังจำเป็นอยู่ เพราะเงินเฟ้อยังสูง กรณี SVB อาจไม่มีน้ำหนักมากหากไม่ลามและรุนแรง
9. ผลกระทบต่อไทยหลังปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐ
โดยมากผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะผ่านตลาดเงินและตลาดทุน ที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์นี้ อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น แต่ตลาดน่าให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆ เพื่อดูสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่ ซึ่งกรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพตลาดการเงิน ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่ เงินบาทน่าขยับแบบ sideway 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ส่วนหาก SVB มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อ ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ให้ชะลอต่อได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าย่อลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่ากระจุกในสหรัฐ ไม่น่ากระทบเอเชียแปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส
สำหรับธนาคารพาณิชย์ของไทย คงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย
10. คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้
เราเชื่อว่าปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐกระจุกในธนาคารขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกลุ่มเทคหรือกลุ่ม start up รวมทั้งมีการขาดทุนทางตัวเลขที่ไม่รับรู้ (unrealized loss) สำหรับธนาคารที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่ด้วยความน่าเชื่อถือที่ยังดี และหากธนาคารถือพันธบัตรจนครบอายุสัญญา ก็ไม่เสี่ยงขาดทุน (ผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับจำกัด) จึงมองว่าเป็นความผันผวนระยะสั้น ไม่ลามจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ พื้นฐานดี กระจายการลงทุนทั่วโลกยังน่าทำได้ นอกจากนี้ ที่ลุ้นคือเงินเฟ้อสหรัฐแม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่มีท่าทีชะลอลง ซึ่งนักลงทุนน่าหาจังหวะเข้าสะสมพันธบัตรหรือตราสารหนี้ ที่ใกล้ถึงจุดสูงสุด ส่วนภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะจีนยังน่าสนใจ เราอาจให้น้ำหนัก A-share หรือหุ้นในจีน มากกว่า H-share ที่มีกลุ่มเทคในฮ่องกง โดยรวมน่าเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนและจีนน่าหาทางลดความผันผวนในตลาดทุนเทียบสหรัฐได้
Lesson learned ข้อคิดที่ได้จากกรณี SVB
1. อย่าใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าใบเดียว ควรกระจายการลงทุน อย่าเป็นเหมือนคนฝากเงินใน SVB ที่พึ่งแบงก์เดียว รวมทั้งนักลงทุนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดประเภทเดียว
2.วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบเสมอ จากด้านเครดิตปี 2008 เป็น mismatch และสภาพคล่องปี 2023 หรืออาจมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับสูงเช่นนี้ อาจเห็นธุรกิจอื่นที่มีปัญหาซ่อนไว้รอประทุขึ้นได้
3.แม้ตลาดจะฟื้น แต่นักลงทุนยังควรระมัดระวังความผันผวนต่อไป จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ น่าแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ไม้ ค่อยๆ ลงทุนทีละน้อยจนครบเป้าหมาย ไม่แนะนำลงทุนทีเดียวครบ เพราะเราไม่มีทางรู้ทิศทางตลาดและไม่จำเป็นต้องได้ราคาต่ำสุดเสมอไป แต่น่าได้ความสบายใจไปด้วย
โดยสรุป กรณี SVB น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่กระทบราคาพันธบัตรและมีผลให้กลุ่มเทคและกลุ่ม Start up มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทบธนาคารที่เชื่อมโยงกับกลุ่มนี้ รวมทั้งผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นจนแห่ถอนเงิน และปัญหาเช่น SVB นี้ไม่น่าลามจนเกิดวิกฤติการเงินเหมือนในปี 2008 เพราะการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆมีน้อยและขนาดของธนาคารที่มีปัญหาไม่ได้ใหญ่จนมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐ  และเชื่อว่าเฟดมีความยืดหยุ่นพอที่จะดูแลปัญหาในลักษณะนี้ ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุด ทางการสหรัฐฯนำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และองค์กรประกันเงินฝากในสหรัฐฯ (FDIC) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร SVB โดยให้สามารถถอนเงินได้ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป รวมทั้งยังได้รับประกันเงินฝาก Signature Bank ด้วย โดยผู้ฝากเงินไม่ได้รับผลกระทบใดๆ นอกจากนี้ ยังได้ประกาศจัดหาเงินกองทุนพิเศษให้กับ FDIC เพื่อให้มีเพียงพอในการสร้างความมั่นใจให้กับระบบธนาคารของสหรัฐฯอีกด้วย ตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯจึงปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นต่อมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง