การขยายตัวของชาวมุสลิม และโอกาสของธุรกิจไทย

View icon 1.1K
วันที่ 21 ก.พ. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หลายท่านอาจไม่ทราบ ประชากรชาวมุสลิมหรือผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจ และเป็นโอกาสดีของธุรกิจไทยอย่างไร เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะเล่าให้ฟัง

จากการประเมินโดย Pew Research คาดว่าจำนวนชาวมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2,200 ล้านคนภายในปี 2030 หรือคิดเป็น 26.4% ของประชากรโลก ทั้งนี้หากเทียบกับปี 1990 ขณะนั้นมีประชากรมุสลิมเพียง 1,100 ล้านคนเท่านั้น และในปี 2050 ประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มไปอยู่ที่ 2,760 ล้านคน หรือ 29.7% ของประชากรโลก

…พูดง่ายๆว่า ใน 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีประชากรมุสลิมคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลกทีเดียว

การมีประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ เนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อจำนวนผู้บริโภค พฤติกรรรมผู้บริโภค ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนสินค้าและบริการที่จะได้รับความนิยม สุดท้ายย่อมส่งผลต่อผู้ผลิตหรือภาคธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ดูได้จากการประเมินของ Adroit Market Research ที่คาดว่าตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลกจะเพิ่มจาก 7.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 เป็น เป็น 11.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ย 5.6% ต่อปี ทั้งนี้ปัจจุบันมีมากถึง 49 ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม

แล้วการเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
1. ประชากรมุสลิมจำนวนมากอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากสุด 209 ล้านคน รองลงมาคืออินเดีย มี 176 ล้านคน ซึ่งการที่ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคนี้เป็นผลดีต่อไทย เพราะอยู่ใกล้ สามารถส่งออกสินค้าไปขายได้สะดวก ต้นทุนต่ำ เข้าใจตลาดและผู้บริโภคได้ง่าย
2. เมื่อเจาะดูในรายละเอียดว่า ชาวมุสลิมใช้จ่ายในสินค้าฮาลาลประเภทใดบ้าง ข้อมูลจาก Halal Focus พบว่าชาวมุสลิมใช้จ่ายในสินค้าประเภทอาหารมากสุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 62% ของรายจ่ายทั้งหมดในสินค้าฮาลาล การที่ชาวมุสลิมใช้จ่ายในสินค้าประเภทอาหารมาก นับเป็นโอกาสดีของประเทศไทย เนื่องจากสอดคล้องกับจุดแข็งของไทยในการเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารหลักของโลก ที่สำคัญพบว่าประเทศมุสลิมหลายประเทศมีปัญหาความมั่นคงทางอาหารต่ำ เช่น ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ ที่สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการเกษตรกรรม ยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากต่างประเทศ
3. เมื่อเจาะดูพฤติกรรมการใช้จ่าย ข้อมูลจาก Halal Focus ยังพบอีกว่า ชาวมุสลิมใช้จ่ายในเรื่องการท่องเที่ยวสูง คิดเป็น 8% ของรายจ่ายทั้งหมด การที่มุสลิมใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทย เพราะมีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ประกอบกับพื้นฐานของคนไทยที่เปิดรับวัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติที่หลากหลาย ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมดี นอกจากนี้ในเรื่องภูมิศาสตร์ประเทศด้วย ที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก ใกล้ไทย เดินทางมาเที่ยวสะดวก ทั้งนี้จากการประเมิน จำนวนนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ในปี 2026 จะมากถึงถึง 230 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าถึง 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีความแข็งแกร่งด้านสินค้าฮาลาลอยู่แล้ว เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลอันดับที่ 12 ของโลก อาหารฮาลาลคิดเป็น 20% ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทยทีเดียว โดย 60% เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน โดยอาหารที่มีศักยภาพ ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ สินค้าประมง  ผักผลไม้แปรรูป  เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องสำอาง

ขณะที่ในมิติการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่ชาวมุสลิมให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวอยู่แล้ว ดูได้จากการจัดอันดับโดย Global Muslim Travel Index (GMTI) ปี 2022 ไทยติด 1 ใน 5 ประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมนอกกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมืออิสลาม (Inclusive Destination of The Year สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม หรือ Non-OIC)

ความท้าทายในอนาคต

หากไทยอยากได้ประโยชน์เต็มที่จากการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลหรือการเติบโตของประชากรชาวมุสลิม มีเรื่องที่ควรเตรียมตัวอย่างน้อย 2 เรื่อง

ประการแรก ภาคธุรกิจไทยต้องใส่ใจเรื่องการได้รับการรับรองฮาลาล เพราะเป็นตราสินค้าสำคัญในการเปิดตลาดให้เข้าถึงประชากรชาวมุสลิมทั่วโลก นอกจากนี้ผู้ผลิตอาหารฮาลาลควรพัฒนารสชาติ คุณภาพ รูปแบบอาหารใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ที่ต้องการสินค้าที่หลากหลาย เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ โปรตีนจากพืช

ประการที่สอง ในแง่โอกาสด้านการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่ไทยที่มุ่งคว้าโอกาสจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ประเทศอื่นหลายประเทศก็ต้องการชิงส่วนแบ่งจากตลาดนี้เหมือนกัน เช่นจาก Global Muslim Travel Index (GMTI) ปี 2022 นอกจากไทยที่ติด 1 ใน 5 ประเทศอื่นๆ สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมยังประกอบด้วย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร ฮ่องกง โดยเฉพาะสิงคโปร์ และไต้หวัน ที่ภูมิศาสตร์ของประเทศใกล้ไทย เป็นที่นิยมสูงในหมู่นักท่องเที่ยวมุสลิม ทั้งยังเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวต่างเชื้อชาติ ศาสนา จึงนับว่าเป็นคู่แข่งสำคัญทีเดียว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจึงต้องทำการบ้านให้ดี หากอยากคว้าโอกาสนักท่องเที่ยวมุสลิมไว้ได้

ทั้งหมดนี้ คือหนึ่งในโอกาสของไทยในโลกเศรษฐกิจที่ชาวมุสลิมกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด นำมาฝาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง