ธปท. เผยแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้น ปรับเงื่อนไขช่วยเหลือลูกหนี้

View icon 214
วันที่ 20 ก.พ. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ธปท.เผยทิศทางหนี้เสียปีนี้ยังไม่แผ่ว คาดหนี้เสียทยอยเพิ่มขึ้น เหตุค่าครองชีพ-ดอกเบี้ยสูง เร่งต่ออายุโครงการคลินิกแก้หนี้  พร้อมขยายเงื่อนไขให้คนเป็นหนี้บัตรเครดิตก่อนวันที่ 1 ก.พ.66 ร่วมโครงการแก้หนี้ได้ พร้อมกล่อมสถาบันการเงินร่วมแก้หนี้ไปด้วยกัน

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทิศทางหนี้เสียในปีนี้ ยังไม่ลดลง ตรงกันข้ามจะทยอยเพิ่มขึ้น แต่ไม่สูงชันมากนัก  โดยภาพรวมดีขึ้นกว่าในช่วงโควิด-19 ด้วยมาตรการช่วยเหลือที่ยังคงมีอยู่  และขณะนี้ ธปท.กำลังพิจารณาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งมาตรการสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู ที่อาจจะขยายต่อไปอีก 1 ปี จากที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 6 เม.ย.นี้ 

"เดิมเราคิดว่าเมื่อโควิด-19 ดีขึ้นชัดเจน สถานการณ์ต่าง ๆ ก็น่าจะดีขึ้น แต่ตัวเลขส่งออกในช่วงปลายปีที่แล้วยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และค่าครองชีพประชาชนยังสูง แนวโน้มดอกเบี้ยสูง ทำให้ความสามารถในการจ่ายหนี้ของประชาชนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตาดูอยู่” น.ส.สุวรรณีกล่าว

สิ่งที่ ธปท. ได้เน้นย้ำกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินมาตลอดคือ ขอให้มีการดูแลลูกหนี้เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้  รวมทั้งขอให้เข้าร่วมโครงการคลิกนิกแก้หนี้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ 35 แห่ง

สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาหนี้เสีย ซึ่งตั้งแต่เปิดบริการรับช่วยเหลือลูกหนี้ NPL มาตั้งแต่กลางปี 60 จนถึง ม.ค.66 มีผู้มาขอเข้าร่วมรายการแล้ว 3.6 หมื่นราย คิดเป็น 1.05 แสนบัญชี เป็นมูลหนี้ 7,140 ล้านบาท

ล่าสุด ธปท. ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มเติม โดยผู้เป็นหนี้บัตรเครดิต  บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 ก.พ.2566  สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ จากเดิมต้องเป็นหนี้ก่อน 1 ก.ย.2565 เท่านั้น

โครงการคลินิกแก้หนี้ดีอย่างไร?
1.ปรับโครงสร้างหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล
2. ลูกหนี้ส่งเอกสารการสมัครผ่านเว็บไซต์ของโครงการ
3. สัญญาณปรับโครงสร้างหนี้มีผลทันทีเมื่อลูกหนี้ลงนามยอมรับเงื่อนไขและชำระเงินงวดแรก
4. เงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ มีหลากหลายด้วยอัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ