ขยายประเด็นดัง : คุ้มไหม หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ รฟท. ตัวละ 4 ล้านบาท ใช้งานไม่เต็มที่

View icon 47
วันที่ 18 ก.พ. 2566
ข่าวเด็ด 7 สี
แชร์
ข่าวเด็ด 7 สี - ขยายประเด็นดัง วันนี้ ติดตามปมการจัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ใช้งบประมาณกว่า 96 ล้านบาท แต่กลับพบว่าหุ่นยนต์ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ติดตามเรื่องนี้กับ คุณปราโมทย์ คำมา

ขยายประเด็นดัง วันนี้ เป็นเรื่องที่ข่าวช่อง 7HD ของเราเปิดประเด็นมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ กับปมการจัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี งบประมาณกว่า 96.3 ล้านบาท ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการใช้งาน เพราะเจ้าเครื่องนี้แทบไม่เคยเห็นนำออกมาใช้เลย หลังจากเรานำเสนอเรื่องนี้ออกไป ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีคำชี้แจงออกมาเช่นกัน แต่จะฟังขึ้นหรือไม่ คุณผู้ชมลองมาช่วยวิเคราะห์ดู

เรื่องนี้ทีมข่าวเราได้รับแจ้งมาให้ช่วยตรวจสอบอุปกรณ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 หรือหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี (UV-C) มีมูลค่าตัวละ 4 ล้านกว่าบาท แต่กลับถูกวางทิ้งไว้อย่างไร้ค่า ไม่ได้มีการนำมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

เราลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือ หัวลำโพง ก็พบกับหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อนี้จริง ๆ และยังพบว่าไม่ได้มีอยู่แค่สถานีรถไฟหัวลำโพงเท่านั้น จากการสอบถามหนึ่งในเจ้าหน้าที่ บอกว่า ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงมีหุ่นยนต์ฆ่าเชื้ออยู่ประมาณ 7-8 เครื่อง ได้รับมาเมื่อช่วงกลางปี 65 เพื่อใช้งานในการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะโควิด-19 และนอกจากหัวลำโพงแล้ว ตามสถานีใหญ่ ๆ ของแต่ละภูมิภาคก็มีเช่นกัน รวม ๆ แล้วมีอยู่กว่า 20 เครื่อง

เมื่อไปถามเจ้าหน้าที่ที่สถานีหัวลำโพง ก็ได้คำตอบว่า ตั้งแต่ที่ได้รับมาเห็นใช้งานแค่ช่วงแรก ๆ แล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีการใช้งานอีกเลย เพราะใช้งานลำบาก ด้วยระบบที่ต้องใช้โทรศัพท์บังคับ แล้วถ้าเจอสิ่งกีดขวางก็ต้องเกณฑ์คน 3-4 คน มาช่วยกันยก จนปัจจุบันก็ถูกตั้งทิ้งอยู่ตามห้องต่าง ๆ ภายในสถานี

คราวนี้พาคุณผู้ชมมาดูที่มาของเจ้าหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อตัวนี้กันหน่อย ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ตอนนั้นโควิด-19 ก็กำลังระบาดรุนแรงเลย ฝ่ายการพัสดุ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ประกาศงานจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิธีการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐก็จะมีอยู่ 2 วิธี คือ เป็นการประกวดราคาเชิญชวนทั่วไปผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ หรือ e-bidding และวิธีที่ 2 จัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ใช้ในกรณีต้องซื้อแบบเร่งด่วน

ทีนี้ถ้าเราลองตั้งตัวเลขบนสมมติฐานที่ค้นเจอผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างเมื่อสักครู่ ด้วยวงเงิน 96.3 ล้านบาท เอามาหาร 20 ก็คือจำนวนเครื่อง ตามข้อมูลที่เราได้มา ก็จะพบว่าหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ 1 เครื่อง เฉลี่ยแล้วราคาตกเครื่องละ 4,815,000 บาท เทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นมาอีกหน่อย หุ่นยนต์ 1 เครื่อง สามารถซื้อบ้านเดี่ยวได้ 1 หลัง หรือคอนโดฯ ได้ 1 ห้อง เลยทีเดียว แล้วนี่คือสภาพของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อเครื่องละ 4 ล้านบาท

แต่ราคาที่เราลองคำนวนไปเมื่อสักครู่ ไม่ได้เป็นการตั้งแบบลอย ๆ เพราะในท้องตลาดราคาของเครื่องนี้ก็อยู่ที่หลักล้านจริง แต่จะถูกจะแพงขึ้นอยู่กับฟังก์ชันการใช้งาน แต่ถ้าหากผลิตเองโดยคนไทย ราคาก็จะถูกกว่าถึง 30%

เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดซื้อ รฟท. ชี้แจงว่า การจัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อเป็นการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ตามขั้นตอนทุกอย่าง มีการประกวดราคา และสอบราคา ตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด

แต่เรื่องนี้อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มองว่าสิ่งที่ รฟท. ชี้แจงยิ่งชวนให้สงสัยว่าจะมีการล็อกสเปกกันหรือไม่ เช่นการสอบราคาที่กำหนดคุณสมบัติของหุ่นยนต์ไว้มากมาย มีบริษัทไหนที่มีสินค้าตรงตามที่ต้องการบ้าง แล้วสุดท้ายเกิดการแข่งขันกันจริงหรือ

เรามาดูคุณสมบัติของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อตัวนี้กัน นี่เป็นข้อมูลที่การรถไฟฯ ชี้แจงกับเรา หุ่นยนต์ตัวนี้มีจุดเด่นอยู่ที่สามารถฆ่าเชื้อโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 200-280 นาโนเมตร สามารถทำลาย DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส สปอร์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดี และมีประสิทธิภาพ

ส่วนฟังก์ชันการทำงานค่อนข้างหลากหลายด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ เอไอ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองผ่านระบบไวไฟ 5G มีระบบเซ็นเซอร์ อินฟราเรด ป้องกันมนุษย์ หุ่นยนต์จะหยุดอัตโนมัติทันที เมื่อเซ็นเซอร์จับสัญญาณมนุษย์ได้ภายในรัศมี 5 เมตร และสามารถป้องกันการชนได้ 360 องศา รวมถึงมีสวิตช์ฉุกเฉินที่สามารถหยุดทำงานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง

แต่คุณสมบัติที่ว่ามานี้บางอย่างดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามที่การรถไฟฯ ชี้แจง อย่างที่เจ้าหน้าที่ที่ใช้งาน บอกว่าถ้าไปเจอสิ่งกีดขวางก็ต้องหาคนมาช่วยกันยก หรือพอเครื่องเดินผ่านคนภายในรัศมี 5 เมตร เครื่องก็ไม่หยุด 

รฟท. ยังชี้แจงด้วยว่า ที่ไม่ค่อยเห็นนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อตัวนี้มาใช้งาน เป็นเพราะจะต้องใช้ในช่วงเวลาหลัง 22.00 น. ไปแล้ว เป็นเวลาที่ไม่มีผู้โดยสาร เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รังสีไปรบกวน เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดซี เป็นรังสีที่มีความอันตรายต่อร่างกายมนุษย์

อันตรายอย่างไร เราได้สอบถามไปยัง อาจารย์เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า รังสีอัลตราไวโอเลตชนิดซี หากถูกผิวหนังอาจจะทำให้เกิดการไหม้ และนำไปสู่การเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง หรือถ้าหากถูกดวงตาก็อาจจะทำให้กระจกตาเสียหาย ส่งผลต่อการมองเห็นไปจนถึงขั้นตาบอดได้ 

อย่างไรเรื่องนี้ก็ยังต้องติดตามกันต่อ ว่าสุดท้ายแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย จะติดตามและดูแลโครงการนี้ต่อไปอย่างไร งบประมาณเกือบร้อยล้านบาทที่ถูกนำมาใช้จ่ายจะบริหารอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด เป็นประโยชน์กับคนในชาติมากที่สุด