หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี รฟท.ใช้คุ้มค่าหรือไม่

View icon 76
วันที่ 17 ก.พ. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เปิดประเด็นวันนี้ ชวนคุณผู้ชมตามต่อเรื่องที่เราเกาะติดมา เป็นวันที่ 4 แล้ว สำหรับ ปม การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี งบประมาณ 96,300,000 บาท แต่มีการร้องเรียน ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งทาง รฟท. เขาก็ยืนยันมาเป็นเอกสาร เครื่องดี ใช้คุ้ม ประสิทธิภาพเยี่ยม จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบทุกอย่าง

จากนั้นก็ตามต่อให้เห็นว่า หนึ่งในคุณสมบัติที่บอกว่า มีระบบป้องกันมนุษย์ ตรวจจับได้หยุดทำงานทันที เพราะมีเซ็นเซอร์จับในรัศมี 5 เมตรนั้น ไม่น่าจะจริง เนื่องจากคลิปที่ รฟท.ส่งให้เรา ยังเห็นคนอยู่ชิด ติดหุ่นยนต์เลย แต่เครื่องก็ไม่หยุด และมีข้อสังเกตถึงราคาว่าแพงเกินไปมั้ย ทำไมไม่ซื้อในประเทศ เพราะไทยเองก็ผลิตหุ่นยนต์แบบนี้ได้เหมือนกัน ข้อสังเกตเหล่านี้ ยังไม่มีคำตอบจาก รฟท. เราเลยจะพาคุณผู้ชมไปเจาะข้อมูลลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง ถึงปัญหาการใช้งาน เป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลย

อย่างที่เรารายงานไปเมื่อวานนี้ว่า รฟท.ให้รายละเอียดมาแล้วว่า หุ่นยนต์ 20 เครื่อง กระจายไปอยู่ที่ไหนบ้าง ก็ตามกราฟิกหน้าจอที่คุณผู้ชมเห็นในตอนนี้เลย แต่เมื่อสุ่มตัวอย่างสอบถามไปยังสถานีฯ เหล่านี้ กลับได้ข้อมูลว่า สถานีบางแห่ง ถูกเรียกคืนเครื่องไปเพื่อลงเลขพัสดุ และไม่มีการส่งกลับมาอีกเลย นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ยังไม่มีคำตอบมานะ

มาถึงเรื่องนี้สำคัญเลย ได้ข้อมูลมาว่า มีหุ่นยนต์สุดพิเศษเครื่องหนึ่งที่ ส่งไปให้สถานีหนึ่งใช้ แต่ใช้ได้ไม่กี่เดือน เครื่องดันพัง เรามีเอกสารยืนยันเรื่องการส่งซ่อม แต่ขอเบลอไว้ เพื่อไม่ให้แหล่งข่าวได้รับผลกระทบ

ไล่ให้เห็นแบบนี้เลย เริ่มตั้งแต่มีการส่งหุ่นยนต์ไปเลย สมมติว่า เป็นสถานี ก.ไก่ เขาส่งหุ่นยนต์ไปให้ มีรายละเอียดชัด อุปกรณ์ครบชุดมีอะไรบ้าง พร้อมย้ำด้วยว่า สภาพใช้งานได้ดี รับเครื่องกันไปวันที่ 31 พฤษภาคม ปีที่แล้ว

แต่มันเป็นปัญหาอย่างนี้ ผ่านไปแค่ 5 เดือน เครื่องพังซะแล้ว เดือนตุลาคม ผู้เกี่ยวข้องก็ทำหนังสือขอส่งซ่อม แจ้งว่าเกิดความชำรุด ก็มีตั้งแต่ปุ่มสีแดงของหุ่นยนต์ ชำรุด สกรูยึดด้านบนตัวเครื่องทั้งสี่คลายตัว ทำให้การยึดกับอุปกรณ์ด้านบนของหุ่นยนต์ไม่แน่น

ส่งผลให้หุ่นยนต์ได้รับความเสียหาย ซึ่งตามเงื่อนไขของสัญญา บริษัทฯ จะต้องซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ แต่เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก จนเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ก็ยังไม่มีการซ่อมแซมหุ่นยนต์ให้กลับมาใช้งานได้ อย่าว่าแต่ซ่อมแซมเลย แค่มา ตรวจสอบยังไม่มาเลย

แบบนี้ก็ต้องถามกลับไปยัง รฟท.อีกประเด็นหนึ่งว่า ได้ติดตามหรือเปล่าว่า บริษัทฯ ที่ได้งานไป เขาปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญามั้ย มีอะไรที่ขาดตกบกพร่องไปหรือเปล่า จะได้รักษาประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กรได้

นี่เป็นข้อมูลที่รวบรวมมาได้เพิ่มเติม เกี่ยวกับปัญหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี คราวนี้เราจะสรุปปมคำถาม ที่คิดว่าจนถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่เราที่นำเสนอเรื่องนี้ตั้งข้อสงสัยแล้ว ประชาชนที่ติดตามอยู่ ก็น่าจะอยากได้คำตอบจาก รฟท.เหมือนกัน

จากข้อมูลทั้งหมดที่เราเสนอต่อเนื่องมา 4 วัน เรียงประเด็นคำถามได้ 5 ข้อใหญ่ ๆ คือ 1.ประสิทธิภาพของเครื่อง เป็นไปอย่างที่มีการกล่าวอ้างจริงหรือไม่ เพราะคลิปที่แสดงถึงการใช้งาน ก็ชัดเจนว่า ไม่มีระบบเซ็นเซอร์ หรือ ระบบเซ็นเซอร์มนุษย์ ที่จะหยุดเครื่องทันที หากพบมนุษย์ในรัศมี 5 เมตร ใช้งานไม่ได้ 2.ทำไมถึงซื้อเครื่องราคาแพงจากต่างประเทศ แทนการใช้เครื่องผลิตในไทย ทั้งที่ราคาจะถูกกว่าถึง 30% 3.ความพร้อมในการใช้เครื่องมีหรือไม่ เพราะยังพบปัญหาไร้อุปกรณ์ป้องกันให้กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้งาน ทั้ง ๆ ที่หุ่นยนต์นี้ แม้จะฆ่าเชื้อโรคได้ดี แต่ก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้ใช้งานด้วย 4.มีการติดตามประเมินผล บริษัทฯ ว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาครบถ้วนหรือไม่ และ 5.สำคัญที่สุดเลยข้อนี้ หุ่นยนต์ทั้ง 20 เครื่อง ราคา 96,300,000 บาท มีการใช้งานอย่างคุ้มค่าจริงหรือไม่

ทั้งหมด ทั้งมวลนี้ ฝากไปถึง รฟท. ช่วยชี้แจงหน่อยง่าย ๆ เลยเปิดรอบสื่อมวลชน ให้ชมประสิทธิภาพของหุ่นยนต์นี้เลย เซ็นเซอร์ได้จริงมั้ย หลบหลีกสิ่งขวางกั้นได้หรือเปล่า ใช้งานกันยังไง ช่อง 7HD ของเรา พร้อมไปพิสูจน์ทุกเครื่องที่กระจายอยู่ตามสถานีต่าง ๆ เลย เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และเราก็อยากฟังคำอธิบายจากผู้บริหาร รฟท. เพื่อให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งด้วย ถ้าท่านดูอยู่ติดต่อมาได้นะ เพราะเราพยายามติดต่อแล้ว แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะได้ข้อมูลตรง ๆ กับคนเป็น ๆ มาแต่เอกสาร พร้อมคลิป ที่เราได้รับรอบแรกเท่านั้น