หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี ไม่เซ็นเซอร์มนุษย์?

View icon 289
วันที่ 16 ก.พ. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เปิดประเด็นวันนี้ ชวนคุณผู้ชมตามต่อปมการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. จัดซื้อหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี งบประมาณ 96.3 ล้านบาท แต่มีการร้องเรียน ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หลังเรานำเสนอข่าวไป ทาง รฟท. ก็ออกเอกสารชี้แจงยาวเหยียดเลย ยืนยันใช้งานจริง คุ้มค่า โปร่งใส แต่เราไปตรวจสอบเพิ่มเติมพบข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่ รฟท.ชี้แจง มีอะไรบ้าง ไปติดตามกัน

หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี ไม่เซ็นเซอร์มนุษย์?
มาเริ่มกันที่คลิปนี้ก่อนเลย เป็นคลิปที่ทาง รฟท.ส่งมาชี้แจงกับช่อง 7HD ภาพจะเห็นเจ้าหุ่นยนต์ทำงานอย่างขะมักเขม้นเลย

จุดน่าสังเกตอยู่ตรงนี้เห็นเหมือนกันใช่ไหม นั่นคนใช่ไหม อยู่หลังหุ่นยนต์ชัด ๆ เลย

แต่ในเอกสารชี้แจงของ รฟท. ให้เหตุผลที่ไม่นำมาใช้ในช่วงกลางวันว่าเป็นเพราะต้องรอปลอดคนก่อน และที่สำคัญคือคุณสมบัติพิเศษของเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้มีระบบป้องกันมนุษย์ ตรวจจับได้หยุดทำงานทันที เพราะมีเซ็นเซอร์จับในรัศมี 5 เมตร

แล้วเรากะระยะดูสิ ไม่น่าจะถึง 5 เมตร แน่ ๆ แต่หุ่นยนต์ก็ยังคงทำงานปกติ

อย่าว่าแต่หยุดอัตโนมัติเลย แค่สะดุดยังไม่มี เลยเกิดคำถามว่าแค่คุณสมบัติแรกก็ไม่ใช่ซะแล้ว แล้วจะมั่นใจประสิทธิภาพการทำงานในส่วนอื่นได้อย่างไร

เราไปยังไปตามดูว่าคน รฟท. เขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ไปพบเฟซบุ๊กของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง โพสต์ภาพนิ่งตามที่เห็นบนจอ ซึ่งก็เป็นภาพที่ รฟท. ส่งมาชี้แจงกับช่อง 7HD เพื่อยืนยันว่าหุ่นยนต์ใช้งานได้

โดยเจ้าหน้าที่รายนี้ก็ให้ข้อมูลแบบเต็มคาราเบลเลย คือลงรายละเอียดทุกถ้อยคำที่มีการชี้แจงประกอบทั้งภาพนิ่งและคลิป

ที่น่าสนใจคือความเห็นในโพสต์ มีคนหนึ่งเข้ามาถามว่า "ตอนใช้งานควรไม่มีคนอยู่ หรือสวมชุดป้องกันนะ ระวังการเป็นมะเร็งผิวหนัง"

อีกคนหนึ่งนี่มาแรงเลย บอกว่า "เห็นจอดพังเต็มเลย ไม่เห็นจะได้อะไร"

แล้วก็มีคนมาตอบกลับในคอมเมนต์นี้ว่า "อย่าพูดเรื่องจริง 555"

ไม่พอยังมีคนมาต่ออีกคน บอกว่า "เสียดายกดถูกใจได้แค่ครั้งเดียว"

นี่ก็เป็นเสียงสะท้อนที่ รฟท.คงต้องไปพิจารณาเหมือนกัน และมีความเห็นสุดท้ายที่สะดุดตาเหมือนกับที่เราตอนที่เห็นครั้งแรกคือ "เหมือนเครื่องดักยุง"

แต่เรายังไม่ด่วนสรุปเท่านี้ เรายังตามต่อจากข้อมูลที่ รฟท. ให้มาว่าหุ่นยนต์ทั้ง 20 เครื่อง กระจายไปที่ไหนบ้าง

จับโป๊ะ รฟท. หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยรังสียูวีซี ใช้หลังเป็นข่าว?
ทีมข่าวของเราสุ่มตัวอย่างสอบถามไปยังสถานีรถไฟเหล่านี้หลายแห่ง ได้ข้อมูลตรงกันว่าเคยได้รับหุ่นยนต์กลางปีที่แล้ว แต่มีการเรียกกลับไป ให้เหตุผลว่าฝ่ายพัสดุต้องนำไปลงเลขที่พัสดุ จากนั้นหุ่นยนต์สุดไฮเทคก็ไม่เคยกลับมายังสถานีของพวกเขาอีกเลย

ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า แทบไม่ได้ใช้งานหุ่นยนต์เพื่อปราบเชื้อโรคเลย เพราะเกรงในเรื่องความปลอดภัย และเครื่องก็ไม่สะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากแม้จะบังคับผ่านอุปกรณ์ แต่ตอนปิดหรือเปิดเครื่องยังต้องไปกดปุ่มที่ตัวเครื่อง ซึ่งก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและดวงตา ถ้าอยู่สถานีใหญ่หน่อยก็อาจจะมีแว่นป้องกันเป็นการเฉพาะ แต่ถ้าสถานีเล็กหน่อยก็ใส่แว่นกันแดดไป
  
เสี่ยงอย่างไร เราไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ได้รับคำชี้แจงว่า เครื่องนี้มีรังสียูวีที่เข้มข้นกว่าแสงอาทิตย์ เป็นอันตรายต่อผิวหนัง เซลล์ และดวงตา คล้ายกับเวลาที่เราไปมองพระอาทิตย์เวลาแดดจัด ๆ ซึ่งหากได้รับรังสีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอันตรายถึงขั้นเป็นมะเร็งผิว

นั่นก็เป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ จะใช้หุ่นยนต์จึงต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน แต่ก็ไม่มี อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ คุณสมบัติดีเยี่ยมก็ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น อย่างที่เรานำเสนอให้เห็นระบบเซ็นเซอร์ไม่น่าจะทำงานได้ตามที่คุยไว้ แล้วทำไมราคาจึงแพงหูฉี่ สูงถึงเครื่องละ 4.8 ล้านบาท ในขณะที่ราคาท้องตลาด ก็จะลดหลั่นกันไปตามฟังก์ชันการใช้งาน และหากผลิตในไทยจะราคาต่ำกว่าถึง 30% เลยทีเดียว ซึ่งเครื่องแบบนี้คนไทยผลิตได้ เหตุใดจึงต้องซื้อเครื่องจากต่างประเทศ

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบที่ เปิดประเด็น ห้องข่าวภาคเที่ยง นำมาฝากคุณผู้ชมในวันนี้ พรุ่งนี้ยังมีให้ตามต่อถึงการเสนอราคาแข่งขัน เป็นธรรม ตามระเบียบ อย่างที่ รฟท. ชี้แจงมาหรือไม่ อย่าลืมมาปูเสื่อรอดู