พิษสุนัขบ้า เริ่มระบาดใน 4 จังหวัดพบติดเชื้อแล้ว 74 ราย เจ้าของพาหมา-แมว แห่ฉีดวัคซีนป้องกัน

View icon 365
วันที่ 9 ก.พ. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (9 ก.พ. 66) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่า จากข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า (Thai rabies.net) ตั้งเเต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เขตสุขภาพที่ 9 พบจำนวนสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 10 ตัวอย่าง โดยพบที่ จ.บุรีรัมย์ 5 ตัวอย่าง , จ.สุรินทร์ 5 ตัวอย่าง และพบผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าทั้งสิ้น 74 ราย โดยพบที่ จ. สุรินทร์ 67 ราย ,จ.บุรีรัมย์ 7 ราย และผู้สัมผัสโรคทุกรายได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบ

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ ผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบ ๆ ร้อน ๆ แล้วลามไปส่วนอื่น ซึ่งบางคนอาจเกิดอาการคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม พูดเพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อย ๆ โดยบางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทุกราย แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ส่วนในคนหากถูกสุนัขและแมวที่ติดเชื้อกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกันกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยได้  โดยใช้หลัก 3 ป. คือ ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค , ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด และป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด หรืออาจท่องจำง่าย ๆ คือ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ" เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 .