ดาวหางสีเขียว จะปรากฏบนท้องฟ้าครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี

View icon 3.0K
วันที่ 1 ก.พ. 2566
รอบรั้วรอบโลก
แชร์
องค์การนาซาเผย ดาวหางสีเขียวจะปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนของวันที่ 1 กุมภาพันธุเป็นครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี

องค์การนาซา เปิดเผยว่า ดาวหางสีเขียว ซึ่งมีชื่อทางการว่า C/2022 E3 (ZTF) หรือชื่อเล่นว่า เดอร์ตี้ สโนว์บอล (Dirty snowball) ถูกพบเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี 2565 โดยนักดาราศาสตร์ใช้เทคโนโลยี Zwicky Transient Facility ซึ่งเป็นกล้องมุมกว้าง ที่หอดูดาวพาโลมาร์ ในซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ และคาดการณ์ว่า ดาวหางสีเขียวดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ และอาจต้องใช้เวลาหลายล้านปีกว่าจะโคจรมาใกล้โลกอีกครั้ง
            
เจค ฟอสเตอร์ นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวหลวงกรีนิช ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ กล่าวว่า จุดที่ดาวหางสีเขียวใกล้โลกที่สุด จะอยู่ห่างจากโลกราว 42 ล้านกิโลเมตร ซึ่งบางครั้งดาวศุกร์ ก็เข้ามาใกล้โลกมากกว่านั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลถึงอันตรายใดๆ แต่เราจะสามารถมองเห็นความสวยงามของมันได้บนท้องฟ้ายามค่ำคืนทางตอนเหนือ ด้วยกล้องส่องทางไกล และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก หรืออาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในมุมที่มืดที่สุดของซีกโลกเหนือ และเหตุผลที่มันเป็นสีเขียว ก็เพราะพื้นผิวของดาวหางดวงนี้ ถูกปกคลุมด้วยโมเลกุลที่เรียกว่า ไดอะตอมคาร์บอน และสีเขียวเกิดจากรังสี"อัลตราไวโอเลต"ของดวงอาทิตย์ที่ส่องกระทบมายังดาวหาง
          
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์มั่นใจในการคำนวณวงโคจรของดาวหางสีเขียว ที่เข้ามาใกล้เคียงกับระบบสุริยะครั้งสุดท้ายเมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว โดยมันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกถึง 2,000 เท่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง