ผบช.น. ติง ตร.รับงานนำขบวนไม่เหมาะสม มีทางอื่นเลี้ยงปากท้องดีกว่านี้

View icon 132
วันที่ 24 ม.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. มอง ตำรวจรับงานพิเศษ อ้างหาเลี้ยงปากท้อง เป็นวิธีที่ไม่เหมาะ เผย ตำรวจมีเบี้ยงเลี้ย เงินเดือน และวิธีอื่นที่ดีกว่า

วันนี้ (24 ม.ค.66) พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. และ พล.ต.ต.สุวิชชา จินดาคำ ผบก.จร. เรียกประชุมข้าราชการในสังกัด บก.จร. ที่ กองบังคับการตำรวจจราจร ถนนวิภาวดีฯ

พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้กล่าวถึง กรณีตำรวจ ผู้ใต้บังคับบัญชานำรถส่วนตัวไปหารายได้พิเศษ สำหรับเรื่องนี้ได้สั่งการให้ผู้บังคับบัญชาไปตรวจดูว่า บกพร่องอะไรหรือไม่อย่างไร ส่วนเรื่องเอเจนซี่ ที่ว่าจ้างตำรวจให้ไปทำงานพิเศษนั้น ทางผบ.ตร. ได้สั่งการ มีคณะทำงานคอยติดตามเรื่องนี้แล้ว

63cf9ee30f4fc9.12702779.jpg

พล.ต.ท.ธิติ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ประชาชนตั้งคำถามเรื่องการใช้รถนำขบวน และบางครั้งก็ไม่ยอมหลบให้ เกรงว่าจะเป็นการใช้รถส่วนตัวนั้น หากพบว่ามีความผิดปกติก็สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ ซึ่งทั้งหมดมีระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติอยู่แล้ว ใครทำผิดในส่วนนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วนรถนำขบวนนั้น ไม่ได้มีเฉพาะ บช.น.เพียงที่เดียว ตำรวจท่องเที่ยว หรือ ตำรวจท้องที่ก็มีเช่นกัน แต่ถ้าหากทำผิดระเบียบก็ต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่บกพร่องก็ต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพราะทำให้เสียภาพลักษณ์องค์กร

ทั้งนี้ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่นำรถส่วนตัวไปติดสัญญาณไฟ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี ทั้งทางวินัย และทางอาญา หากมองว่าเป็นการทำเพื่อเลี้ยงปากท้อง ส่วนตัวมองว่า มีเบี้ยเลี้ยง มีเงินเดือน และยังมีทางอื่นที่ดี ที่ควรปฏิบัติดีกว่านี้ ซึ่งวิธีนี้ไม่เหมาะสม หลังจากนี้หากมีการกระทำผิดอีกก็ต้องลงโทษผู้บังคับบัญชา ซึ่งในกรณีนี้ได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบผู้บังคับบัญชาแล้วว่าใครจะต้องมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบบ้าง

63cf9ee27aa664.03548853.jpg

ด้าน พล.ต.ต.สุวิชชา กล่าวว่า ในส่วนความผิดนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการจเรตำรวจ ซึ่งต้องรวบรวมการสอบสวนจากหลายฝ่าย ทั้งฝ่าย จเรตำรวจ บก.จร.และ ตำรวจท่องเที่ยว เพื่อนำมารวมกัน และพิจารณาหากมีความผิดทั้งทางวินัย และ ทางอาญาก็จะต้องลงโทษตามกฎหมาย ส่วนกรณีรถนำขบวน ได้กำชับทุกภาคส่วนที่มีรถนำขบวนแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


พล.ต.ต.สุวิชชา กล่าวอีกว่า กรณีนายตำรวจที่ขับรถยนต์นำขบวนที่มีรายงานว่าถูกส่งตัวกลับมาที่ จราจรโครงการพระราชดำริแล้ว แต่ไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าขาดราชการหรือไม่นั้น ในส่วนนี้ได้ประชุมหารือพร้อมกำชับให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้ทราบแล้ว อีกทั้งกรณีที่มีการกล่าวพาดพิงถึงบุคคลที่สามว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจ้างเจ้าหน้าที่นั้น ก็จะต้องดำเนินการเชิญตัวมาสอบปากคำเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฎ