ยูทูบเบอร์ดัง ฟันธงสายชาร์จไม่เกี่ยวดูดเงิน

View icon 193
วันที่ 19 ม.ค. 2566
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - กรณีสายชาร์จดูดเงินจากมือถือ ได้สร้างความตื่นตระหนกไม่น้อยต่อผู้ใช้ ซึ่งต้องยอมรับว่า สื่อเองก็มีบทบาทที่ทำให้ความเข้าใจผิดแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ภายหลังจึงมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ช่วยกันออกมาอธิบายให้เห็นภาพปัญหา และวิธีที่มิจฉาชีพใช้ในการดูดเงินชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับ นายอาร์ม โปรแกรมเมอร์และยูทูบเบอร์ ผู้ได้รับฉายา "เจ้าชายไอที" และรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลจากโลกออนไลน์ ที่พยายามอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ จึงได้ขออนุญาตนำบางช่วงบางตอนมาเผยแพร่

ประเด็นสำคัญที่ นายอาร์ม พยายามสื่อสาร คือ การดูดเงินจะต้องมีวิธีการบางอย่างที่มิจฉาชีพใช้ในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์เสมอ เช่น หลอกว่าเป็นสรรพากร หรือมีแอปต่าง ๆ ให้โหลด แต่ผู้ที่เป็นเป้าหมายอาจเผลอกดโดยไม่รู้ตัว หรือไม่คิดอะไร เพราะจะไม่มีการดำเนินการในทันที โดยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จะมีความเสี่ยงกว่าไอโอเอส เนื่องจากสามารถดาวน์โหลดแอปนอกกูเกิลเพลย์ได้ จึงมีโอกาสสูงกว่าที่แอปเหล่านี้จะเข้าสู่เครื่อง ซึ่งกลยุทธ์มีหลายแบบ อาจเป็นการตั้งชื่อให้คล้ายกับแอปยอดนิยม หรือมาในรูปแบบแอปหาคู่ หลอกให้ดาวน์โหลด ซึ่งเมื่อโหลดมันจะขึ้นว่าโหลดไม่สำเร็จ เหมือนไม่มีแอปนี้อยู่ แต่มันแฝงตัวอยู่ในเครื่องแล้วโดยไม่รู้ตัว

สำหรับวิธีการดูดข้อมูลและเงินด้วยสายชาร์จโทรศัพท์ แม้จะมีเทคโนโลยีนี้อยู่ แต่การทำงานยากมาก จึงไม่ใช่วิธีการที่มิจฉาชีพนำมาใช้ในไทยอย่างแน่นอน

นายอาร์ม อธิบายว่า การทำงานของสายชาร์จดูดข้อมูล จะต้องเสียบสายชาร์จนี้ไว้ตลอด ซึ่งนอกจากสายราคาแพงแล้ว ยังต้องใช้สายหลายเส้น เพื่อกระทำการในสเกลใหญ่ในการล่อลวง อาจต้องซื้อสายเป็นร้อยเป็นพันเส้น แล้วแจกไปมาก ๆ เพื่อรอคนมาใช้ สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ ต้องอยู่ใกล้ ๆ เหยื่อด้วย เพื่อคอยเชื่อมต่อกลับมายังไวไฟของสาย หมายความว่าอาจต้องไปรออยู่ข้างกำแพงบ้าน รอจนเขานอนแล้วค่อยเข้าไปทำงานดูดข้อมูล กระบวนการแบบนี้แม้ทำได้ แต่ยากกว่าการหลอกล่อให้กดรับลิงก์ หรือให้โหลดแอปโดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตระหนกในเรื่องสายชาร์จดูดเงิน เชื่อว่ามีที่มาจากการนำเสนอของสื่อมวลชน ที่อาจไม่เข้าใจกลไกการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่ควรให้ความรู้ความเข้าใจและจัดการเรื่องเหล่านี้ ไม่ควรเป็นหน้าที่ของตน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะต้องออกมาสื่อสารให้ประชาชนฟังว่าเกิดอะไรขึ้น