เพื่อไทย มั่นใจนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำได้แน่นอน

View icon 67
วันที่ 8 ธ.ค. 2565
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ปี 2570 จะได้เห็นจริงจังกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ที่เพื่อไทย ย้ำหนักแน่นทำได้แน่นอน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น วันนี้มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งภาคเอกชน การเมือง แม้แต่ผู้ประกอบการ ก็มองว่าส่งผลกระทบแรงงานแน่นอน

เพื่อไทย มั่นใจนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำได้แน่นอน
แม้ว่าพรรคเพื่อไทย จะยืนยัน ว่าเป็นแนวนโยบายที่ต้องเติบโตไปพร้อมกับจีดีพี 5 เปอร์เซนต์ และต้องไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ทั้งภาคแรงงานและผู้ประกอบการ เพราะมีแนวทางเชื่อมต่อ ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการสร้างรายได้ให้กับแรงงานที่มีทักษะ ไม่กระทบภาคอุตสาหกรรม

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ผลกระทบอุตสาหกรรม
แต่ทางการเมืองด้วยกันแล้วมองว่า เป็นการหาเสียงที่หวือหวาเกินไป ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน ฐานผลิตจะเกิดความสั่นคลอน น่าจะให้ผู้ประกอบการเป็นผู้พิจารณาด้วย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มองว่าหากจะหาเสียง ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย อย่าทำเพราะนึกสนุก โยนภาระให้ภาคเอกชน นักลงทุนต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุน จนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย มองว่าเป็นการล้มกระดานของคณะกรรมการไตรภาคี และล้มเงื่อนไขการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี อยากเรียกร้องทุกพรรคการเมือง อย่าออกนโยบายที่กระทบต่อภาคแรงงาน เพราะอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตได้

ผู้นำแรงงาน ค้านค่าจ้างขายฝัน 600 บาท
ทางฝั่งลูกจ้าง นายชาลี ลอยสูง ผู้นำแรงงาน รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุ การชูประเด็นค่าจ้าง 600 บาท เป็นนโยบายขายฝัน ไม่อยู่กับความจริง เป็นการสร้างกระแสทางการเมือง

ข้อเท็จจริงดุลยภาพค่าจ้าง ที่คณะกรรมการฯ สำรวจมา 492 บาทต่อวัน ก็ยังไม่ได้ ทุกวันนี้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 328-354 บาท แล้วจะผลักดันไปถึง 600 บาท ยิ่งจะทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเสี่ยงกับธุรกิจไปต่อไม่ไหว เสี่ยงถูกเลิกจ้างด้วย กลุ่มลูกจ้างจึงขอเรียกร้องให้ควบคุมราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้พุ่งสูงจะดีกว่า

ด้านนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าจ้าง 600 บาทนั้น สูงเกินไป จะทำลายระบบเศรษฐกิจชุมชน และเอสเอ็มอีไทย เพราะชาวบ้านที่ทำอาชีพเกษตรกร ธุรกิจบริการ ยังต้องพี่งพาแรงงานต่างด้าวอยู่ ทำให้สู้อัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นไม่ไหว อาจมีทำให้ชุมชนนั้น ๆ ล่มไปในที่สุด การเพิ่มค่าแรงนี้ จึงถือว่าไม่ได้ส่งเสริมความมั่นคงของบ้านเราอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้ เคยมีการออกนโยบายในลักษณะนี้มาก่อน ทำให้ค่าครองชีพในประเทศไทยสูงขึ้น ภาคอุตสาหกรรมตามต่างจังหวัดปิดตัวลง ไม่สามารถสู้ค่าแรงไหว จนการจ้างงานน้อยลง เกิดการว่างงานสูง ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่ามีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนว่างงาน จากเดิม 503,000คน เป็น 575,000 คน หลังมีการขึ้นค่าแรงในปี 2557

การขึ้นอัตราค่าจ้าง จึงต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย และรับฟังความเห็นนายจ้าง และลูกจ้าง ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ รวมไปถึงกฎบัตรที่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานต่างด้าว ในอัตราเดียวกับค่าจ้างแรงงานไทยด้วย