รมว.ยุติธรรม จ่อแก้กฎหมาย ให้ผู้พ้นโทษคดียา ทำอาชีพ รปภ. ได้ หลังพบขาดแคลน ด้านทัพบก หารือบำบัดทหารเกณฑ์ 70-80% ติดยา

วันที่ 24 เม.ย. 2568
"รมว.ยุติธรรม" ปรับแผนแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งเป้า 6 เดือน เน้นประชาชนมีส่วนร่วม จ่อแก้กฎหมาย ให้ผู้พ้นโทษคดียา ทำอาชีพ รปภ. ได้ หลังพบขาดแคลน ต้องจ้างต่างชาติ ด้านทัพบก หารือบำบัดทหารเกณฑ์ 70-80% ติดยา 

วันนี้ (24 เม.ย.68) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัด การดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2568 ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุมประพฤติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พ.ต.อ. ทวี เปิดเผยว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ประชาชนโหวตให้เร่งแก้ไขอันดับ 3 ทำให้ต้องหารือปรับแผนป้องกัน ปราบปรามและแก้ไข โดยในช่วง 6 เดือนหลัง คือระหว่าง 1 เม.ย.- 30 ก.ย.68 จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพราะการบำบัดยาเสพติด ครอบครัวสำคัญที่สุด หมู่บ้านสำคัญที่สุด กลุ่มคนเหล่านี้จึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และเป็นตัวชี้วัดประเมินผลชุมชน

นอกจากนี้ อีกปัญหา คือ ผู้แทนจากกองทัพบกได้ร่วมหารือ พร้อมบอกว่าทหารเกณฑ์แต่ละปี ประมาณ 80,000 คน มีประมาณ 70-80% เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฐานะผู้เสพ และในจำนวนนี้เป็นเคสเสพติดรุนแรง 10% เพราะครอบครัวมักจะส่งบุตรหลานที่ติดยาเสพติดมาสมัครใจเกณฑ์ทหาร เนื่องจากมองว่ากองทัพเป็นที่ๆ ปลอดภัยที่สุด

พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น อาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ซึ่งเป็นอาชีพที่ขาดแคลนเป็นอย่างมาก แต่ผู้ที่เคยต้องโทษต้องคดีมาก่อน เมื่อพ้นโทษแล้วกลับไม่สามารถมาประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องจ้างชาวต่างชาติมาเป็น รปภ. แทน จึงจะขอให้ปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม และผู้เกี่ยวข้อง ไปพิจารณากฎหมายเดิมว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งหากมีการปรับแก้กฎหมาย ก็ต้องมีเงื่อนไขกำกับแน่นอน เพราะกฎหมายเดิมที่ห้ามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือคดีรุนแรงมาเป็น รปภ. ไม่ได้ก็เหมาะสมแล้ว แต่ความผิดอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องเสพยาเสพติด บางคนอาจก้าวพลาดไป หากตอนนี้เขาบำบัดเลิกยาเสพติดแล้ว การศึกษาดีแล้ว พ้นโทษมาไม่มีเงิน ไม่มีอาชีพ และยังไปเลือกปฏิบัติกับบุคคลเหล่านี้อีก การลงโทษควรจะทำแค่ในเรือนจำ แต่ไปลงโทษนอกเรือนจำด้วย ก็อาจจะไม่เหมาะสม ประกอบกับปัจจุบันสังคมเราขาดแคลนคนรุ่นใหม่ ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะแรงงาน ซึ่งก็ถือเป็นความมั่นคงของชาติอย่างหนึ่ง

และอีกกฎหมายหนึ่งที่ควรต้องปรับปรุง คือผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ทำให้ยกเลิกการบังคับบำบัด ซึ่งผู้เสพหลายคนเมื่อศาลตัดสินให้รอลงอาญา ก็กลับไปอยู่ชุมชน มีเพียง 10% ที่ศาลสั่งให้ไปบำบัด แต่อีก 90% ไม่ต้องบำบัด  จึงได้ประสาน ป.ป.ส. ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อหาทางแก้ไขเบื้องต้นโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายได้หรือไม่ เพราะหากปล่อยไปเช่นนี้ ต่อให้ตำรวจ ทหาร จับกุมผู้เสพยาเสพติดมา สุดท้ายก็ปล่อยตัวอยู่ดี แต่ถ้าถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมาย ก็คงต้องแก้ให้กลับไปคล้ายๆ เดิม เพื่ออนาคตของเยาวชนและผู้เสพยาเสพติดทุกคนที่ต้องได้รับการบำบัด

ด้าน พล.ต.วิทยา เสมาทอง (ผอ.สปก.ยก.ทบ.) ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า แนวทางของกองทัพบกปัจจุบัน หากเป็นผู้ที่ติดยาเสพติดรุนแรงก็ต้องส่งรักษาเป็นผู้ป่วย แต่หากเป็นผู้เสพไม่รุนแรง กองทัพบกก็พยายามดูแล และใช้มาตรการออกกำลังกาย การให้คำแนะนำจากทีมแพทย์เจ้าหน้าที่เสนารักษ์ของกองทัพบก ซึ่งผู้เสพที่ไม่รุนแรง มาตรการเหล่านี้สามารถทำให้เลิกยาเสพติดได้ 100%

“กองทัพบกพยายามดูแลอย่างเต็มที่ แม้ว่าเราจะอยากได้บุคลากรที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่เราเลือกไม่ได้ ดังนั้น เราต้องช่วยกันทำให้บุคคลเหล่านี้ กลับมาเป็นบุคคลที่มีคุณค่าของกองทัพและประเทศชาติ ซึ่งกองทัพก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่ง ยอมรับว่าหนักใจ แต่ก็ต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด”

Gallery