สภาไฟเขียว พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลดล็อกให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

วันที่ 19 มี.ค. 2568
สภาไฟเขียว พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลดล็อกให้โฆษณาประชาสัมพันธ์ เหล้า - เบียร์ได้แล้ว

วันนี้ (19 มี.ค. 68) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ … พ.ศ.… ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ พิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 38 มาตรา ในวาระ 2 และวาระ 3

โดยในที่ประชุมได้ให้สมาชิกลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ ในวาระที่ 3  ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 365 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง รวมถึงเห็นด้วยกับข้อสังเกตุของ (กมธ.) โดยลงมติเห็นด้วย 356 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 5 เสียง

ขณะที่เฟซบุ๊ก ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ - หนุ่ม  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... คนที่ 1 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

[ การแก้ไขที่ยาวนานของ พ.ร.บ. #ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำเร็จแล้วครับ !!! ]
กฎหมายฉบับนี้ เป็น 1 ในกฎหมายที่ใช้เวลาหาข้อสรุปกันค่อนข้างนาน เนื่องจากมีการเสนอเข้ามาและรับหลักการในวาระ 1 ร่วมกันมากถึง 5 ฉบับ คือ
1. ฉบับ ครม. โดย ก.สาธารณสุข
2. ฉบับ พรรคเพื่อไทย โดยผมเป็นผู้เสนอ
3. ฉบับ พรรคก้าวไกล โดย สส.เท่าพิภพ เป็นผู้เสนอ
4. ฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายผู้สนับสนุนการควบคุมการเข้าถึงแอลกอฮอล์ที่เคร่งครัดขึ้น
5. ฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายผู้สนับสนุนการผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมธุรกิจแอลกอฮอล์
การทำงานในชั้นกรรมาธิการ จึงต้องหา #จุดสมดุล ให้มากที่สุด ที่จะผ่อนคลายการควบคุมที่ไม่สมเหตุสมผล ให้สามารถส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น แต่ก็ยังต้องคงไว้ซึ่งมาตรการควบคุมในบางเรื่อง และบทลงโทษที่เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือ เพื่อ #ปกป้องการเข้าถึงสุราจากเยาวชน และพฤติกรรมการดื่มที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ตามนโยบายที่ได้รับมาตั้งสมัยท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน
ต้องขอบคุณกรรมาธิการทุกท่านที่ร่วมกันทำงานมาอย่างหนัก และเพื่อนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร ที่ร่วมกันพิจารณาตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมาครับ

ทั้งนี้ข้อสรุปของการแก้ไขในวันนี้ ครอบคลุมสาระสำคัญ 5 เรื่องหลัก คือ
1️. คณะกรรมการ
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและสภาเยาวชน ในคณะกรรมการควบคุม
- ส่งเสริมบทบาท คกก.ในระดับจังหวัด และให้นายก อบจ. ร่วมเป็นรองประธาน
2️. การควบคุม
- ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ และคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคืนอำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดเวลา และสถานที่ ห้ามขาย
- เพิ่มการกำกับดูแล ลดการขายให้เยาวชนและผู้อยู่ในภาวะมึนเมา
3️. การโฆษณา
- แยกออกมาเป็นบทเฉพาะ
- เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้ หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า
- ให้ผู้ประกอบการสามารถ #ประชาสัมพันธ์ ชื่อ และรายละเอียดสินค้าได้มากขึ้น โดยต้องไม่เป็นการเชิญชวนให้ดื่ม หรืออวดอ้างสรรพคุณ
- ห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราเสมือน มาโฆษณาโดยสื่อให้เข้าใจว่าเป็นโฆษณาแอลกอฮอล์
4️. การบำบัดฟื้นฟู
- ขยายกรอบผู้ที่สามารถได้รับการบำบัดฟื้นฟู จากเพียงผู้ติดแอลกอฮอล์ เป็นผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ให้อำนาจหน่วยงานในการขอการสนับสนุนงบประมาณ หรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น
5️. บทกำหนดโทษ
- ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเลือกใช้ มาตรการตักเตือน แทนการบังคับใช้บทลงโทษทางอาญาหรือทางปกครองได้
- เพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัย ในกรณีความผิดที่ไม่รุนแรง
- แยกโทษการโฆษณาของประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่เท่าทันกฎหมาย ออกจากโทษของผู้ประกอบการ ให้มีเพดานโทษที่น้อยกว่า
- เพิ่มโทษของกรณีการขายสุราให้เยาวชน
- เพิ่มอำนาจในการสั่งปิด ระงับใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่กระทำผิดต่อเนื่องหรือร้ายแรง

Gallery