คอลัมน์หมายเลข 7 : ได้ข้อสรุป หลักสูตรช่างซ่อมอากาศยาน มทร.กรุงเทพ

วันที่ 29 ธ.ค. 2567
ข่าวการประกวด
เจาะประเด็นข่าว 7HD - หลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถูกร้องเรียนว่าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งคอลัมน์หมายเลข 7 ติดตามประเด็นนี้มากว่า 2 ปี จนกระทั่งปี 2567 บานปลายถึงขั้นแจ้งความ สุดท้าย ไกล่เกลี่ยกันลงตัวหรือไม่ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน

เป็นมหากาพย์มากว่า 2 ปี กรณีอดีตนักศึกษาร้องเรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรชุดวิชา หรือ NON-DEGREE ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยอ้างว่า ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการเรียนการสอนจริง และเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่า 5 แสนบาทต่อคน แต่กลับได้ใบประกาศนียบัตรที่นำไปสมัครงานไม่ได้

เรื่องนี้ คอลัมน์หมายเลข 7 ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปลายปี 2567 รองศาสตราจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และนางสาวชฎาพร พงศ์ทองเมือง มูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พากลุ่มอดีตนักศึกษาไปแจ้งความดำเนินคดีกับมหาวิทยาลัยฯ ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ

รองศาสตราจารย์วีรชัย อ้างว่า ใบประกาศนียบัตรไม่ใช่ของ EASA ตามที่โฆษณาไว้ แต่ออกโดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเยอรมัน จึงทำให้นำไปสมัครงานไม่ได้

ปัญหาที่คาราคาซัง สุดท้าย เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม เพราะคงไม่ดีแน่ หากปล่อยให้บานปลายถึงขั้นฟ้องร้องกันไปมา จึงเชิญทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ย

มหาวิทยาลัยฯ ยืนยันยกระดับพัฒนาหลักสูตรเป็นปริญญาตรี 4 ปี หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศบ.) สาขาวิชาวิศวกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ตรวจสอบแล้ว พบเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร ในอำนาจของสภามหาวิทยาลัย และเป็นไปตามมาตรฐานของ EASA

ด้านรองศาสตราจารย์วีรชัย ยอมรับความผิดในการเข้าใจคลาดเคลื่อนของข้อมูล

สุดท้ายไกล่เกลี่ยลงตัว ทั้งสองฝ่ายลงนามในหนังสือยินยอมแสดงความจำนงในการไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท โดยมีข้อตกลงร่วมกัน มหาวิทยาลัยฯ จะช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาตามจำนวนที่เหมาะสมในแต่ละราย ภายใต้เงื่อนไข นักศึกษาจะต้องถอนคดีความทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ภายใน 31 มกราคม 2568

และมหาวิทยาลัยฯ จะมอบทุนการศึกษาโควตาให้กับนักศึกษาหรือบุตรของนักศึกษา 1 ทุนต่อคนด้วย

Gallery