ปลากระพงร้า ฝ่าวิกฤตราคาปลาตกต่ำ

วันที่ 19 พ.ย. 2567
ข่าวการประกวด
เกษตรกรสู้ไม่ถอย ผู้เลี้ยงปลากระพงเผชิญวิกฤตราคาตกต่ำ หันมาแปรรูปเป็นปลากระพงร้า จนกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าของ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย

ปลากระพงร้า สินค้าแปรรูปของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่หวังฝ่าวิกฤตราคาปลากระพงตกต่ำ ปลากระพงขนาดประมาณ 0.7-1 กิโลกรัม ที่ผ่านการแช่เกลือเม็ดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 วัน จะถูกนำมาตากแดดตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าติดต่อขอซื้อ ไปทำอาหารรับประทานในครัวเรือน และร้านอาหารที่ซื้อเพื่อไปปรุงอาหารขายให้กับลูกค้า โดยระยะเวลาการตากแดดจะแตกต่างกันไปตามขนาดตัว อยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน ก่อนจะแพ็กด้วยระบบสุญญากาศ ส่งมอบให้ลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ในราคา กิโลกรัมละ 250 บาท จนกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าของ ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

นางสาวอัญชลีพร กิจหวน อายุ 26 ปี สมาชิกศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารตำบลท่าเคย เล่าว่า สาเหตุที่นำมาปลากระพงที่เลี้ยงไว้มาทำปลากระพงร้า เนื่องจาก ปัญหาปลากะพงราคาตกต่ำ แพปลาและพ่อค้าคนกลาง มาจับปลาให้ช้า จนต้องมาแบกรับภาระในเรื่องของอาหารปลาวันละ 600-1000 บาท ทำให้ตัวเลขการขาดทุนเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจจับปลาขึ้นมาจากบ่อเพื่อขายให้พ่อค้าแม่ค้า ที่มารับซื้อจากบ่อ แต่ก็ขายได้ในราคาต่ำ นอกจากนี้ ยังมีปลากระพงเหลืออีกประมาณ 400-500 กิโลกรัม จึงนำมาดองเกลือเม็ด แปรรูปเป็นปลากระพงร้า จนได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ตอนนี้ก็เลี้ยงใหม่อีกบ่อเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติ เพื่อทำปลากระพงร้า

ด้านนายสุกิจ มีพริ้ง นายอำเภอท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในอำเภอท่าฉางมีเกษตรกรเลี้ยงปลากะพงอยู่หลายราย ส่วนใหญ่จะขายเป็นเนื้อปลาสด ในช่วงราคาตกต่ำ เกษตรกรได้นำปลากะพงมาแปรรูปเป็นปลากะพงร้า เพื่อสร้างมูลค่า ลดความเสี่ยง หรือเป็นการถนอมอาหารสามารถที่จะเก็บไว้ได้นาน ซึ่งอำเภอเองได้ให้การสนับสนุนทางวิชาการและด้านการตลาด เปิดตลาดบริเวณอำเภอเพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือพ่อค้า แม่ค้า สามารถที่จะนำสินค้าชุมชนเข้ามาจำหน่ายได้ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และประสานไปยังตลาดนัดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าศาลากลางจังหวัด ตลาดหน้าห้างเซ็นทรัลพลาซาสุราษฎร์ธานี รวมถึงการสร้างเครือข่ายทั้งในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร

สำหรับปลากระพงในปัจจุบัน ราคาอยู่ระหว่าง 80-100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายปี ส่วนหนึ่งเกิดจากปลากระพงจากประเทศเพื่อนบาทที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาตีตลาดผู้เลี้ยงปลากระพงของไทย จนเกษตรกรหลายรายต้องขายยอมขาดทุนกำไร หรือปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น จนถึงหยุดเพาะเลี้ยงจนกลายเป็นบ่อร้างก็มี

Gallery