นายกฯ ดูพื้นที่สร้างสนามบินพะเยา ย้ำศึกษาให้ดี คำนึงผลประโยชน์-ความคุ้มค่า

วันที่ 18 มี.ค. 2567
ยกระดับเมืองรอง นายกฯ ดูพื้นที่สร้างสนามบินพะเยา ย้ำศึกษาให้ดี คำนึงผลประโยชน์-ความคุ้มค่า ขณะที่ชาวบ้านมาต้อนรับ พร้อมชูป้าย ขอสนามบินให้คนพะเยา

วันนี้ (18 มี.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดพะเยา ติดตามความคืบหน้าสถานที่ก่อสร้างสนามบินพะเยา ตำบลดอนศรีชุม และตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ โดยทันทีที่เดินทางมาถึงชาวบ้านได้นำผ้าขาวม้า จากกลุ่มทอผ้าบ้านใหม่ราษฎรบำรุง อำเภอดอกคำใต้ มาผูกที่เอวต้อนรับนายกรัฐมนตรี

จากนั้นนายกรัฐมนตรีรับชมการแสดงฟ้อนร่องช้าง ตำนานปู้ก่ำงาเขียว โดยมีนางรำ 100 คน  รำประกอบเพลงซอตำนานจ้างปู่ก้ำงาเขียว ก่อนที่จะเดินทางไปรับฟังรายการการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มาดูความเป็นไปได้ที่จะศึกษาการสร้างสนามบินที่จังหวัดพะเยา เพราะหากติดตามนโยบายของรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ การยกระดับเมืองรองให้เป็นเมืองหลัก และปัจจัยสำคัญก็คือเรื่องของการคมนาคม สนามบินจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด แต่เราต้องคำนึงถึงผลประโยชน์การลงทุนที่ต้องคุ้มค่ากับการสร้างสนามบิน ศึกษาให้ดี ยืนยันจะพยายามเต็มที่ ใช้หลักการ ใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อที่จะมาศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบิน

การมาที่นี่ได้เห็นรอยยิ้ม มีความประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่น อีกทั้งทราบมาว่าจังหวัดพะเยา มีประเพณีวัฒนธรรมที่ดี มีอาหารการกินที่ดี และมีสถานท่องเที่ยวมากมาย เชื่อว่าองค์ประกอบในการยกระดับจากเมืองรองให้เป็นเมืองหลักมีแล้ว จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องสนับสนุน อยากให้อดใจ อดทนรอนิดนึง เรามีการศึกษากันอย่างรอบคอบใช้เงินภาษีที่ประชาชนจ่ายมาให้เหมาะสม

จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายภาพกับชาวบ้านที่มานั่งรอ ก่อนที่จะเดินไปเยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอป โดยได้อุดหนุนน้ำผึ้งเกษรจากดอกลำไย จากจังหวัดพะเยา จำนวน 4 ขวด ในราคา 1,000 บาท พร้อมชิมข้าวต้มมัดขนมกล้วย ที่ชาวบ้านนำมาต้อนรับ ทั้งนี้ พบว่าชาวจังหวัดชาวพะเยาได้ชูป้ายให้กำลังใจนายกฯ พร้อมกับชูป้ายขอสนามบิน

สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานพะเยา เป็นโครงการที่ใช้พื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่ วงเงินก่อสร้างใน 10 ปีแรก ประมาณ 2,200 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ทางวิ่ง (Runway), ทางขับ (Taxiway), ลานจอดเครื่องบิน (Apron), อาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal), ลานจอดรถยนต์ส่วนบุคคล 150 ช่องจอด, ถนนตรวจการและถนนภายใน, อาคารหน่วยดับเพลิงและอาคารกู้ภัย, หอบังคับการบิน, สถานีอุตุนิยมวิทยา, อาคารระบบนำร่อง, อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่, อาคารณรงค์กำเนิดไฟฟ้าสำรอง, โรงผลิตน้ำประปา, ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศ สถานี LOCALLIZER/GLIDE SLOPE และระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) คาดปีเปิดให้บริการ พ.ศ.2577 จะมีความต้องการใช้ท่าอากาศยานจำนวน 78,348 คนต่อปี

ทั้งนี้ แต่ละปีจังหวัดพะเยา มีนักท่องเที่ยวขยายตัวเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจากสถิติการท่องเที่ยวพบว่าในช่วงปี 2552-2562 มีผู้มาเยี่ยมเยียนเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 486,679 คน มีอัตราเติบโตร้อยละ 11.15 ต่อปี แต่ที่ผ่านมาการเดินทางมาจังหวัดพะเยายังต้องใช้ท่าอากาศยานใกล้เคียงคือ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีระยะห่างจากจังหวัดประมาณ 103 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

Gallery