ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เผชิญความท้าทายมากขึ้นใน ปี 2567

วันที่ 18 ก.พ. 2567
มูลค่าซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ในขณะที่ส่งออกไปต่างประเทศก็ลดลงติดกัน 2 ปี แล้วอนาคตของเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยจะเป็นอย่างไร

จากที่เคยมีปริมาณการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในประเทศกว่า 1 ล้านชิ้นต่อปี ก่อนปี 2563 ลดลงมาเหลือเพียงราว 6 แสนชิ้นในปี 2566

ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 20% ของปริมาณการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย นั่นแสดงว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ หรือก็คืออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยพึ่งพิงตลาดภายนอกและมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก

หากประเทศคู่ค้ามีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งมีต้นทุนสูงขึ้น ก็จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย

มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ลดลงในช่วงปี 2565 และ 2566 จากที่เคยมีการส่งออกในปี 2564 ถึง 510 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 345.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 29.1% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับในปี 2565)

ประเทศผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยรายใหญ่ที่สุด 5 ประเทศ คือ
1. สหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 68.05% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี โดยไทยมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาลดลง 28.96% ในปี 2566
2. ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 12.87% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี โดยในปี 2566 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นลดลง 28.93%
3. จีน คิดเป็นสัดส่วน 2.12% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี และในปี 2566 ไทยส่งออกไปยังจีนลดลง 23.97%
4. อินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 1.84% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี
5. แคนาดา คิดเป็นสัดส่วน 1.20% ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งปี

ศูนย์วิจัยในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างก็คาดว่าประเทศคู่ค้าเหล่านี้จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้มีความต้องการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์จากไทยลดลง

ประกอบกับค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้ต้นทุนการผลิตและขนส่งเพิ่มสูงขึ้น แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่สูงขึ้น เนื่องจากมีเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่นเป็นสินค้าทดแทนมากขึ้น การปรับขึ้นราคาตามต้นทุนทำได้ยาก และผู้ผลิตอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้เอง

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มองว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายๆ ด้าน และอาจมีผลประกอบการที่ชะลอตัวลงในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีความเข้มงวดมากขึ้น และไทยมีปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ความต้องการในประเทศลดลง ในขณะที่คู่ค้าต่างชาติก็เผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความผันผวน/ไม่แน่นอน ทำให้กระทบต่อการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของไทย

Gallery