คนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 300 แก้วต่อปี ต่อคน

วันที่ 27 ม.ค. 2567
ข่าวการประกวด
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด

ในปี 2563 ที่มีการปิดเมืองเพราะการระบาดของโควิด-19 กลับเป็นปีที่คนไทยบริโภคกาแฟมากที่สุดถึง 730 กรัมต่อคน ในขณะที่ปี 2564 มีการบริโภคเพียง 460 กรัมต่อคน

ในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีปริมาณการบริโภคกาแฟต่อคนมากที่สุด คือ 400 แก้วต่อปี ต่อคน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขการบริโภคกาแฟของคนในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่คนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 300 แก้วต่อปี ต่อคน (ครึ่งหนึ่งของปริมาณกาแฟที่ชาวยุโรปดื่มต่อปี)

จากข้อมูลตลาดกาแฟปรุงสำเร็จของประเทศไทย พบว่ามีมูลค่ารวมปีละกว่า 60,000 ล้านบาท ไทยบริโภคกาแฟในประเทศสูงถึง 70,000 ตันต่อปี ขณะที่ไทยผลิตได้เองเพียง 10,000 ตันต่อปี ที่เหลือนำเข้าทั้งหมด

จากสถิติการส่งออกทั่วโลกในปี 2564 ประเทศที่ส่งออกกาแฟมากที่สุดในตลาดโลก ได้แก่ บราซิล (มูลค่าการส่งออกกาแฟมากถึง 5.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามมาด้วยสวิสเซอร์แลนด์ (3.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โคลัมเบีย (3.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เยอรมนี (3.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเวียดนาม (2.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ประเทศไทยเองก็มีการส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นมากในปี 2564 มูลค่าการส่งออก 109.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 5.1% แบ่งเป็นการส่งออกเมล็ดกาแฟ 631.6 ตัน มูลค่า 3.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (135.38 ล้านบาท) และ กาแฟสำเร็จรูป 23,347 ตัน มูลค่า 105.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,655.21 ล้านบาท)

มูลค่าการส่งออกกาแฟของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในครึ่งแรกของปี 2566 มีการส่งออกถึง 59.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.7% โดยมีการส่งออกเมล็ดกาแฟ 148.5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และกาแฟสำเร็จรูป 12,081 ตัน คิดเป็นมูลค่า 58.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

การเติบโตของการส่งออกกาแฟไทย ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการกำกับดูแลการส่งออกสินค้ากาแฟในปี 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ได้แก่

1. กำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตและหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามข้อบังคับขององค์การกาแฟระหว่างประเทศ (International Coffee Organization : ICO) ในการส่งออก
2. กำหนดหลักเกณฑ์ในการขออนุญาตส่งออกกาแฟ โดยกาแฟในประเทศสามารถส่งออกได้ไม่จำกัดปริมาณ สำหรับกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟดิบนำเข้าจากต่างประเทศหรือที่ผสมกับเมล็ดกาแฟดิบในประเทศ สามารถส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟและเมล็ดกาแฟคั่วได้ไม่เกินปริมาณเมล็ดกาแฟดิบที่นำเข้าและที่รับซื้อภายในประเทศ
3. กำหนดวิธีการในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าให้เป็นไปตามข้อบังคับของ ICO
4. กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายปี

จากเอกสารสำนักโภชนาการ กรมอนามัย USDA สถาบันของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าคนเราควรบริโภคคาเฟอีนไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน ในกาแฟ 1 แก้ว (ขนาด 150 มิลลิลิตร) จะมีปริมาณคาเฟอีนอยู่ประมาณ 80-100 มิลลิกรัมต่อวัน นั่นหมายถึงเราไม่ควรดื่มกาแฟเกิน 4 แก้วต่อวัน

การดื่มกาแฟที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้ได้รับคาเฟอีนมากเกินไป ยังทำให้มีการบริโภคน้ำตาลและครีมเทียมหรือนมมากด้วยเช่นกัน จึงควรจำกัดให้อยู่ในระดับที่พอดี หรืออาจหันมาดื่มกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลแทนหรือสลับกันกับกาแฟที่ใส่ครีม-นมและน้ำตาล

Gallery