ดร.ธรณ์เผยปีนี้ทะเลไทยสุดพีก โมล่า-ปลาแสงอาทิตย์ มาครั้งที่ 2

วันที่ 19 ม.ค. 2567
โมล่า-ปลาแสงอาทิตย์ โผล่ทะเลไทยครั้งที่ 2  ดร.ธรณ์ เผยอยู่ไม่นาน มาตามปรากฎการณ์ IOD ในมหาสมุทรอินเดีย แค่ได้เห็นก็กรี๊ด ทะเลไทยปีนี้พีกสุดขีด สัตว์หายากโฉบเข้ามาในทะเลไทย ทั้งวาฬโอมูระเผือก ออร์ฟิชหรือปลาพญานาค หมึกผ้าห่ม และโมล่า

โมล่า ปลาแสงอาทิตย์ วันนี้ (19 ม.ค.67) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหลังได้รับคลิปภาพโมล่าหรือปลาแสงอาทิตย์ใต้ท้องทะเลไทย สำหรับโมล่าเป็นปลามหาสมุทร จะแวะเข้ามาใกล้ฝั่งตามเกาะกลางทะเล น้ำลึก น้ำเย็น จึงแทบไม่โผล่มาในทะเลไทย แม้เป็นอันดามันก็ตาม แต่ปรากฎการณ์ IOD (indian ocean dipole) ในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้อะไรก็เป็นไปได้ ตัวประหลาดโผล่มากันเพียบ

ดร.ธรณ์ ระบุว่า หินม่วง/หินแดง เป็นกองหินกลางทะเลกระบี่/ตรัง น้ำลึกกว่าแนวปะการังชายฝั่ง ผู้ที่พบแจ้งว่า เจอที่ความลึก 31 เมตร ตามสายทุ่นจอดเรือที่อยู่นอกกองหิน ปลาว่ายเข้ามาดูและว่ายออกไปอย่างเร็ว แล้วไม่กลับเข้ามาอีก

หากย้อนไปเมื่อเดือนก่อน มีข่าวว่าชาวประมงล้อมอวนติด “โมล่า” 2-3 ตัว ก่อนรีบปล่อยลงทะเล ทำให้เราพอทราบว่าช่วงนี้มี “โมล่า” เข้ามาในไทย การพบใต้น้ำครั้งนี้จึงเป็นไปได้

“โมล่า” เป็นปลาสุดน่ารัก โผล่บ่อยมากในสติกเกอร์ หรือตุ๊กตา ฯลฯ คนญี่ปุ่นรัก “โมล่า” มากๆ “โมล่า” หรือในชื่อ ocean sunfish เรามักทับศัพท์ว่าปลาแสงอาทิตย์ แต่ปัจจุบันเรียกกันว่า “โมล่า” ตามชื่อวิทยาศาสตร์ Mola mola พบเกือบทั่วโลกยกเว้นเขตหนาวจัด ตัวใหญ่สุดอาจยาวเกิน 3 เมตร หนักเกิน 2.5 ตัน “โมล่า” จึงเป็นปลากระดูกแข็งหนักที่สุดในโลก (ฉลามวาฬเป็นปลากระดูกอ่อน วาฬ/โลมา ไม่ใช่ปลา และโมล่า “หนัก” ไม่ใช่ยาวใหญ่)

ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า ตัวที่เจอรอบนี้ จึงยังเป็น “โมล่า” เด็ก ความยาวแค่ประมาณ 1 เมตร “โมล่า” กินแมงกะพรุนเป็นหลัก ยังรวมถึงญาติๆ เช่น หวีวุ้น จึงใช้ชีวิตกลางทะเลเปิด สังเกตท่าว่ายน้ำอันแปลกประหลาด ทำให้ “โมลา” มีชื่อเสียงเป็นที่จดจำ เพราะปลาอื่นใช้หางว่ายน้ำ แต่ “โมล่า” ใช้ครีบหลังและครีบก้นที่ยาวเป็นพิเศษโบกน้ำไปมา ขณะที่ครีบหางสั้นกุดแทบไม่เกี่ยวอะไรกับการว่ายน้ำเลย

“โมล่า” ยังเป็นปลาที่ออกไข่มากที่สุดในโลก 200-300 ล้านฟองต่อครั้ง เพราะโอกาสรอดของลูกๆ มีน้อยมาก ลูกปลาที่เพิ่งเกิดตัวเล็กจิ๋ว 2-3 มิลลิเมตร กลายเป็นเหยื่อของสัตว์อื่นเพียบ กว่าจะรอดมาเป็นตัวเต็มไว ใหญ่และเร็วพอที่จะะรอดตายจากศัตรู แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว ฉลามและวาฬขนาดใหญ่ที่กินเนื้อเป็นนักล่าตามธรรมชาติของ “โมล่า”

“โมล่า” ยังเป็นปลาที่มีปรสิตเยอะ บางหนจึงว่ายเข้ามาที่แนวปะการังกลางมหาสมุทรให้ปลาช่วยตอดปรสิต บางทีอาจถึงขั้นขึ้นไปลอยบนผิวน้ำให้นกช่วยจิก

หากเทียบความหายากของสัตว์ที่โผล่มาในอันดามันช่วงนี้
1 วาฬโอมูระเผือก (ไม่มีรายงานในโลก)
2 oarfish (ไม่เคยมีรายงานในไทย)
3 หมึกผ้าห่ม (มีตัวอย่าง เคยจับได้จากชาวประมง แต่มีคนเจอใต้น้ำเป็นครั้งแรก)
4 โมล่า เคยมีคนถ่ายคลิปไกลๆ ได้ที่สิมิลัน (2018) ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการบันทึกได้ใต้น้ำ (รายงานตามท่าเรือหรือชาวประมงจับได้ มีเป็นระยะหลายปี/ครั้ง)

ดร.ธรณ์ ระบุว่า สัตว์ที่โผล่มาในช่วงนี้ มาตามปรากฎการณ์ IOD จึงไม่หวังว่าจะอยู่ประจำ คงจากไปในไม่ช้า แต่แค่ได้เจอก็กรี๊ดๆ ทะเลไทยปีนี้ พีกสุดขีด

Gallery