รู้หรือยัง? จ่ายบัตรเครดิตไม่เต็มวงเงินเสียดอกเบี้ยเต็มจำนวน

วันที่ 9 พ.ย. 2566
เคลียร์ให้ชัด  4 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “อัตราดอกเบี้ย” ที่ผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น เพราะความเข้าใจผิด  โดยเฉพาะดอกเบี้ยบัตรเครดิต จ่ายไม่ครบจำนวนที่รูดแต่ละครั้งถูกคิดดอกเบี้ยทั้งก้อนที่รูดไป ไม่ใด้คิดเฉพาะวงเงินที่ยังไม่จ่าย 

ดอกเบี้ยเงินกู้ วันนี้ (9 พ.ย.66)  ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ออกมาให้ข้อมูลสำคัญ 4 เรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ การคิดคำนวณดอกเบี้ย พร้อมบอกวิธีการคิดดอกเบี้ย และวิธีช่วยประหยัดดอกเบี้ยให้ผู้กู้เงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ได้เข้าใจวิธี คิดดอกเบี้ย จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย  และการปิดจบหนี้ให้เร็วขึ้น

ดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญและมีบทบาทในชีวิตของคนส่วนใหญ่ ความรู้เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรทราบ เพราะถ้าเราไม่รู้หรือเข้าใจผิดก็มักทำให้เกิดผลเสีย เช่น ลูกหนี้ต้องเสียดอกเบี้ยมาก ทั้ง ๆ ที่มีวิธีที่จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้ หรือเสียดอกเบี้ยมากโดยไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจผิดเรื่องเงื่อนไขการคำนวณ

4 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับ “ดอกเบี้ย”
1. ใช้บัตรเครดิตซื้อของแล้วจ่ายแค่บางส่วน จะเสียดอกเบี้ยแค่ส่วนที่ยังไม่จ่าย
2. ผ่อนบ้านมาหลายปี จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด
3. ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบเงินต้นคงที่ มาเป็นแบบลดต้นลดดอกแล้ว
4. ดอกเบี้ยแค่ 2% ถูกสุด ๆ

ใช้บัตรเครดิตซื้อของแล้วจ่ายบางส่วน จะเสียดอกเบี้ยแค่ส่วนที่ยังไม่จ่าย

การใช้บัตรเครดิตมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย ถ้าเรา “จ่ายเต็ม จ่ายตรง”  แต่สิ่งที่มักจะเข้าใจผิด หากเราจ่ายแค่บางส่วน เช่น รูด 10,000 บาท จ่ายแค่ 7,000 บาท เราไม่ได้เสียดอกเบี้ยแค่เฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้จ่าย เพราะเราหมดสิทธิ์จะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย และจะถูกคิดดอกเบี้ยทั้ง 2 ส่วนคือ ส่วนแรก ยอดเต็มจำนวน 10,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยย้อนกลับไปเริ่มตั้งแต่วันที่เรารูดบัตร หรือวันที่บันทึกรายการ จนถึงวันก่อนที่เราชำระ  และส่วนที่ 2 ธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิต จะคิดดอกเบี้ยจากยอดค้างจ่าย 3,000 บาท นับจากวันที่เราชำระครั้งต่อไป

ดังนั้น  หากจะใช้บัตรเครดิต ต้องจ่ายเต็มจำนวนที่รูด  เพื่อไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมาก และได้ประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตอย่างแท้จริง

654c82f8d7ae84.71364074.jpg

ผ่อนบ้านมาหลายปี จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด

ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านจะเป็นแบบ ลดต้นลดดอก โดยการชำระแต่ละงวด จะแยกเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย หากเราจ่ายค่าบ้านเท่ากันทุกงวด ในช่วงปีแรก ๆ ค่างวดส่วนใหญ่จะเป็น “ดอกเบี้ย” และเงินที่จ่ายไปจะนำมาตัดเงินต้นน้อยมาก  เพราะเงินต้นยังมีจำนวนสูงอยู่ แต่เมื่อเราชำระไปหลายไป ค่างวดจะเปลี่ยนสัดส่วนมาหักเงินต้นได้เยอะขึ้น และเหลือดอกเบี้ยน้องลง เพราะเงินต้นลดลงเรื่อย ๆ

เมื่อรู้แล้วนี้แล้ว หากเรามีเงินเหลือใช้ในแต่ละเดือน จึงควรแบ่งมาผ่อนบ้านให้มากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ทยอยโปะ” เพื่อช่วยให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นและเสียดอกเบี้ยน้อยลง ซึ่งถ้าโปะตรงวันกำหนดชำระของแต่ละงวด เงินที่เราจ่ายเพิ่มจะถูกนำไปตัดเงินต้นเต็ม ๆ อีกอย่างคือ หากสินเชื่อบ้านของเรากำลังจะหมดโพรโมชันอัตราดอกเบี้ยต่ำ ควรรีบเข้าไปขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้เดิมหรือที่เรียกว่า “retention” หรืออาจขอ “refinance” กับเจ้าหนี้ใหม่ แต่ก็อย่าลืมเปรียบเทียบให้รอบคอบก่อนว่าค่าธรรมเนียมต่าง ๆ คุ้มที่จะเปลี่ยนเจ้าหนี้หรือไม่

ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถเปลี่ยนวิธีคิดจากแบบเงินต้นคงที่ มาเป็นแบบลดต้นลดดอกแล้ว

ปัจจุบันสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคิดดอกเบี้ยแบบ “เงินต้นคงที่” โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินที่กู้มาทั้งก้อน เพียงแต่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี และแจ้งตารางชำระแบบลดต้นลดดอกไว้ในสัญญา เพื่อให้ผู้กู้เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อื่น ๆ ได้  แต่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า การเช่าซื้อรถได้เปลี่ยนสิธีคิดดอกเบี้ยเป็นแบบ “ลดต้นลดดอก” แล้ว และคิดว่าเงินที่จ่ายค่างวดเกินไปหรือทยอยเปะจะช่วยลดดอกเบี้ย ทำให้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น

ดังนั้น หากลูกหนี้ต้องการรับส่วนลดดอกเบี้ย จึงจะต้อง “โปะปิดบัญชี” โดยชำระยอดคงค้างให้หมดในงวดเดียว  ถึงจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยอยู่ 60-100% ของดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราชำระค่างวดไปมากเท่าไหร่แล้ว

คิดว่าดอกเบี้ยแค่ 2% ถูกสุด ๆ

หลายคนเห็น โฆษณาในโบรชัวร์ที่เขียนแค่ "อัตราดอกเบี้ย"  โดยไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยว่าเป็น ต่อปี ต่อเดือน หรือต่อวัน ทำให้ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้เข้าใจผิดว่าไม่แพง  แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หากต้องการกู้เงิน ต้องถามให้ชัดเจนว่า อัตราที่แจ้งไว้  เป็น ต่อปี ต่อเดือน หรือต่อวัน   และแปลงอัตราดอกเบี้ยให้เป็นต่อปีตามสูตรนี้
อัตราดอกเบี้ยต่อปี = อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในโบรชัวร์ X ตัวคูณเพื่อแปลงอัตราดอกเบี้ย
สมมติว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในโบรชัวร์ คือ 2% ต่อเดือน ให้นำ 12 ไปคูณกับ 2% ก็จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% ต่อปี แพงหรือไม่ถามใจตัวเองดู
654c82e149fa86.22408774.jpg
สรุป วิธีที่ช่วยประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
-    บัตรเครดิตต้องจ่ายเต็มจำนวนและตรงเวลา เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย (และไม่ควรใช้บัตรเครดิตถอนเงินสดออกมา)
-    สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยควรทยอยโปะถ้าพอจ่ายไหว เพราะจะช่วยลดเงินต้นได้เพิ่มขึ้นและประหยัดดอกเบี้ยได้ ที่สำคัญควรโปะในวันที่ครบกำหนดชำระของทุกเดือนหากต้องการตัดเงินต้นได้เต็มจำนวน
-    เช่าซื้อรถยนต์ต้องจ่ายเงินก้อนโปะปิดบัญชีครั้งเดียว ถึงจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย
-    ดูอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน และแปลงให้เป็นเปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่าในการขอสินเชื่อจากเจ้าหนี้หลาย ๆ ราย จะได้ไม่เสี่ยงกับดอกเบี้ยแสนแพง และหนี้สินที่พอกพูนจนจ่ายไม่ไหว

Gallery