รู้จัก BANI World คำอธิบายสถานการณ์โลกปัจจุบัน

วันที่ 8 มี.ค. 2566
ข่าวการประกวด
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ทำความรู้จัก BANI World คำอธิบายสถานการณ์โลกปัจจุบันระหว่างวิกฤตโควิดและหลังยุคโควิด ที่เป็นโลกวุ่นวายและซับซ้อนกว่าเดิม

Jamais Cascio นักพฤติกรรมศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกา ได้นำเสนอรูปแบบโลกใหม่ เรียกว่า BANI  ซึ่งประกอบไปด้วยคำว่า 

“Brittle” หมายความถึง ความเปราะบาง สถานการณ์โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจจะมีความเปราะบางมากสามารถเปลี่ยนกระทันหันได้ตลอดเวลา ยิ่งเห็นชัดได้จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (technological disruption) การเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ (climate change) ล้วนมีผลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมตามไปด้วย

“Anxious” หมายถึง ความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นใจ ความรู้สึกไม่มั่นคงง่ายจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ที่รู้สึกเครียดง่ายและสิ้นหวัง เหตุการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และความไม่พอใจที่กระจายอยู่ทุกที่

“Nonlinear” หมายถึง การอธิบายความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นแบบเส้นตรงและเหตุผลแบบเดิม มีปัจจัยแทรกซ้อน ตัวแปร สถานการณ์อื่นๆ มาส่งผลกระทบ ทำให้เกิดการคาดการณ์ได้ยาก สถานการณ์มีความผันผวนสูง ทำให้ความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าลำบาก จำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อหาคำตอบ

“Incomprehensible” หมายถึง ความไม่เข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่มีความชัดเจน การทำความเข้าใจเพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ได้จึงเป็นไปได้ยากมา อีกทั้งข้อมูลมีจำนวนมากทำให้การเลือกกลั่นกรองพิจารณาข้อมูลในเวลาอันสั้นทำได้ยาก

สถานการณ์หลังยุคโควิด-19 เห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ และหลายประเทศยังประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อสูง นอกจากนี้ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนให้เห็นภาวะความเปราะบางและความกังวลของหลายประเทศต่อสถานการณ์ดังกล่าว ปัญหาความมั่นคงเรื่องพลังงานและอาหารในหลายประเทศ มีการออกนโยบายในลักษณะปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตและเกษตรกรรมอย่างเห็นได้ชัด

“ทักษะสำคัญกับสถานการณ์โลกแบบ BANI World เป็นอย่างไร” ทักษะที่จำเป็นะตามกระแสโลกยุคใหม่ คือ ความยืดหยุ่น เน้นทักษะการปรับตัวและฟื้นอย่างรวดเร็ว (resilience)  อีกนัยหนึ่งนั่นคือ ล้มแล้วลุกให้เร็ว จากการประชุมระดับภูมิภาคอย่างการประชุมอาเซียนได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของเรื่องการปรับตัวและฟื้นอย่างรวดเร็วเป็นหนึ่งในแนวทางที่ให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากวิกฤตโควิด และเรื่องการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในส่วนของภาคธุรกิจควรมีการปรับบริหารจัดการองค์กรตามสถานการณ์โลกแบบ BANI World ได้ควรเน้นผลลัพธ์ (result-based management) มากกว่าขั้นตอน กรอบแนวคิดและวิธีการทำงานต้องมีความคล่องแคล่วรวดเร็ว เพื่อปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วในสภาวะที่มีความไม่แน่นอน (agility) ควรมีการกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารในองค์กร เพื่อให้คนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายตรงกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เข้าใจกระบวนการการทำงานซึ่งกันและกัน

การประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบย้อนกลับเป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับองค์กรทุกระดับ การแบ่งปันข้อมูลของคนในองค์กรอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากข้อมูลในโลกยุคปัจจุบันมีมากและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การเลือกพิจารณาข้อมูลข่าวสารช่วยในการประกอบการตัดสินใจได้ตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์

โลกที่เป็นแบบ BANI World มีความวุ่นวาย เปราะบางและซับซ้อนกว่าเดิม ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ มองไปข้างหน้า ล้มแล้วลุกให้ไว

Gallery