เตือน หน้าร้อนนี้ ระวัง!โรคลมร้อน

วันที่ 21 มี.ค. 2568 เวลา 09:45 น.
อีสาน ร้อนจัด! สคร.9 เตือน ระวังโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรกโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และคนทำงานกลางแจ้ง วันนี้ (21 มี.ค.68) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ระบุ ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงมากเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น ตัวร้อน วิงเวียน ปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ หัวใจเต้นแรง เป็นลม อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก พูดจาสับสน ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รวบรวมรายงานการเสียชีวิตที่อาจเกี่ยวข้องกับความร้อนจากภาวะอากาศร้อนในปี พ.ศ. 2567 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 63 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย และเพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 30 – 95 ปี (เฉลี่ย 62 ปี) ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25 มีรายงานการเสียชีวิตใน 31 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี 9 ราย ชัยภูมิ นครราชสีมา และศรีสะเกษ จังหวัดละ 4 ราย ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ และสมุทรสงคราม จังหวัดละ 3 ราย ชลบุรี ชัยนาท ปราจีนบุรี แพร่ ลำปาง ลำพูน และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ราย ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ นครนายก นครศรีธรรมราช น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระยอง สมุทรปราการ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อนสูงที่สุดคือ ร้อยละ 54 นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 51 ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุราในภาวะอากาศร้อน และการเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานกลางแจ้ง ร้อยละ 62 หากจำแนกรายเดือน พบว่า มีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน ร้อยละ 70 ซึ่งเดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียส (°C) นายแพทย์ทวีชัย กล่าวว่า การป้องกันโรคลมร้อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เด็ก และหญิงตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป 2. ดื่มน้ำบ่อยๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเกลือแร่ 3. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ 4. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับ และถ่ายเทไม่ดี 5. สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่ใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ 6. ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพระรถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศอาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10 – 20 นาที 7. ไม่ควรอยู่กลางแจ้งคนเดียว ควรอยู่เป็นกลุ่ม เพราะหากมีอาการผิดปกติจะได้มีคนช่วยเหลือได้ทัน หากพบผู้เริ่มมีอาการของโรคลมร้อน ขอให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือห้องที่มีความเย็น และให้ดื่มน้ำมากๆ ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 สำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เข้าพักในที่ร่มเป็นระยะ หากสูญเสียเหงื่อมาก ดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวังเช่นกัน