คอลัมน์หมายเลข 7 : จัดซื้อจัดจ้างซ่อมรถบัสทิพย์

วันที่ 16 มี.ค. 2568 เวลา 16:52 น.
เจาะประเด็นข่าว 7HD - การจับทุจริตซ่อมรถบัสทิพย์ ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา เเละการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายเกือบ 3 ล้านบาท เป็นผลจากการทำงานเชิงรุกของหน่วยงานตรวจสอบ โดยเฉพาะ สตง. ที่ตรวจพบว่า มีความผิดปกติ หลังจาก สตง. ใช้เวลาแกะรอยนาน 3 ปี ติดตามได้จากคอลัมน์หมายเลข 7 วันนี้ นี่เป็นนาทีที่เจ้าหน้าที่ นำโดย ป.ป.ช. เเละ สตง. นำตัว 7 ข้าราชการ กทม. สังกัดกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา เเละการท่องเที่ยว ออกจากอาคารกีฬาเวสน์ 3 กองการกีฬา กทม. ไปสอบสวน หลังร่วมกันทุจริตซ่อมเเซมรถบัสปรับอากาศ ขนาด 50 ที่นั่ง 5 คัน รวม 28 ครั้ง สร้างมูลค่าความเสียหาย 2.7 ล้านบาท ปฏิบัติการทลายขบวนการทุจริตฉ้อฉลครั้งนี้ ใช้เวลาในการสืบหาข้อเท็จจริงยาวนานถึง 3 ปี ระหว่างปี 2565-2567 เพื่อให้ได้หลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิด หลังจาก สตง. ตรวจพบความผิดปกติ ในการเบิกฎีกาจ้างเหมาซ่อมรถบัส พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิด พบว่าในใบเสนอราคา ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการซ่อมรถบัส ถูกปลอมขึ้นทั้งหมด และที่ผ่านมาอู่ซ่อมรถเเห่งนี้เคยซ่อมเฉพาะรถขนาดเล็กของ กทม.เท่านั้น เจ้าของอู่ฯ ยอมรับว่า ไม่มีศักยภาพซ่อมรถขนาดใหญ่ ที่สำคัญ สตง. พบการเบิกจ่ายเงิน โดยเจ้าของอู่ฯ เซ็นเอกสารรับเงิน ซึ่งจ่ายเป็นเช็ค เมื่อเงินถูกโอนเข้าบัญชี เจ้าของอู่ฯ จะโอนเงินหรือถอนเงินสด ไปให้เจ้าหน้าที่ กทม. อีกทอดหนึ่ง การทุจริตที่เกิดขึ้น ทำให้ กทม. ในฐานะต้นสังกัดของ 7 ข้าราชการ ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายเเรงทั้งหมดแล้ว ทั้งกลุ่มผู้ถูกออกหมายจับ และกลุ่มผู้ถูกกล่าวหา กองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา เเละการท่องเที่ยว กทม. ถูกจับตาการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพิเศษ นับตั้งเเต่มีการพบทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายเเพงเกินจริง จนนำไปสู่การขยายผลตรวจสอบโครงการอื่น ๆ ทำให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำชัดนโยบายป้องกันการทุจริต โดยจัดอบรมทักษะความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยโครงการทุจริตที่ผ่านมา