สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเปิดอาคารวิจัยและการเรียนรู้ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

วันที่ 7 มี.ค. 2568 เวลา 20:03 น.
เวลา 14.57 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงเปิดอาคารวิจัยและการเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสทรงเจริญพระชันษา 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 โดยก่อสร้างเมื่อปี 2562 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 10 ชั้น มีที่จอดรถใต้ดิน 3 ชั้น สำหรับเป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการรวมของนักศึกษาและบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ตั้งสำนักงานบริหารด้านการศึกษา สำนักงานส่วนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้กับหน่วยงานของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์, ห้องสมุด ห้องนันทนาการ และมีคณะที่ตั้งขึ้นใหม่ตามพระปณิธาน ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จากนั้น ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการชีวสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ยีโนม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรไทย ตามแนวทางการแพทย์แม่นยำ ผ่านการประยุกต์ใช้ทักษะด้านชีวโมเลกุลและชีวสารสนเทศ เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกลไกที่เกี่ยวกับการเกิดและดำเนินโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผลงานวิจัยฯ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก เริ่มจากเก็บตัวอย่างอุจจาระ และถอดรหัสพันธุกรรมแบคทีเรีย เพื่อตรวจหาเชื้อที่จำเพาะต่อกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจกระบวนการที่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น รางวัลนานาชาติของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อาทิ แอปพลิเคชันสำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม โดยใช้การค้นหาโครงสร้างประสาทเทียม สำหรับแก้ปัญหาการแพทย์ทางไกล โครงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล และเรือฉุกเฉินต้นแบบในการส่งต่อผู้ป่วยพื้นที่ทุรกันดาร พร้อมระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อให้เข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ บุคลากรมีความปลอดภัย การวิจัยพัฒนาเครื่องมือตัดพังผืดใต้ลิ้นสำหรับทารก รักษาได้แม่นยำ และปลอดภัย โอกาสนี้ ทอดพระเนตรห้องปฏิบัติการ และการเรียนการสอนของนักศึกษากายวิภาค เช่น ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะต่าง ๆ ในรูปแบบเสมือนจริง 3 มิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนและวิจัย