นักวิจัยออสซี่สร้าง ตัวอ่อนจิงโจ้ ในหลอดแก้วสำเร็จครั้งแรก

วันที่ 7 ก.พ. 2568 เวลา 10:14 น.

วันนี้ (7 ก.พ. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการสร้างตัวอ่อนจิงโจ้ผ่านกระบวนการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่วันพฤหัสบดี (6 ก.พ.) ระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ได้อธิบายกระบวนการสร้างตัวอ่อนจิงโจ้ สายพันธุ์อีสเทิร์นเกรย์ (eastern gray) ด้วยการฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ที่เจริญเต็มที่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้กันทั่วไปในการปฏิสนธินอกร่างกายมนุษย์ที่เรียกว่าการฉีดอสุจิเข้าสู่เซลล์ไข่โดยตรง (ICSI) อันเดรส แกมบินี ผู้นำการวิจัย กล่าวว่าความสำเร็จครั้งสำคัญนี้อาจช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์ของออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงโคอาลา วอมแบท พอสซัม และแทสเมเนียนเดวิล โดยคณะนักวิจัยหวังว่าจะสามารถทำให้ตัวอ่อนจากกระบวนการนี้ลืมตาดูโลกสำเร็จภายในระยะเวลาสิบปี แกมบินีเสริมว่าปัจจุบันคณะนักวิจัยกำลังปรับปรุงเทคนิคการเก็บ เพาะเลี้ยง และอนุรักษ์ไข่และอสุจิของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อนึ่ง คณะนักวิจัยเลือกใช้จิงโจ้ สายพันธุ์อีสเทิร์นเกรย์ เป็นหัวข้อการวิจัยเพราะพวกมันมีจำนวนมากเกินไป และการฉีดอสุจิเข้าสู่เซลล์ไข่โดยตรงไม่ต้องการเซลล์อสุจิที่มีชีวิตจำนวนมาก ต้องการเพียงอสุจิหนึ่งตัวฉีดเข้าไปในไข่โดยตรงเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการผสมพันธุ์เทียม