ชวนชมปรากฏการณ์พาเหรดดาวเคราะห์ ช่วงหัวค่ำ เดือนมกราคม - มีนาคม 2568

วันที่ 28 ม.ค. 2568 เวลา 19:34 น.
วันนี้ (28 ม.ค. 68) เพจ NARIT หรือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนจับตา "พาเหรดดาวเคราะห์" หรือ "ดาวเคราะห์เรียงตัว" ช่วงช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2568 ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะปรากฏเรียงกันบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ได้แก่ ดาวเสาร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวอังคาร สังเกตได้ด้วยตาเปล่า รวมถึง ดาวเนปจูน ดาวยูเรนัส สังเกตเห็นได้หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ทั้งนี้ "พาเหรดดาวเคราะห์" หรือปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เรียงเป็นแนวบนท้องฟ้าเช่นนี้ เกิดจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะแต่ละดวงโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นได้ในช่วงเวลาเดียวกันจากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก แต่โดยทั่วไปแล้วดาวเคราะห์ทุกดวงจะปรากฏตามระนาบสุริยวิถี (แนวการขึ้นตกของดวงอาทิตย์) เป็นปกติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด และหากมองในมุมมองจากอวกาศจะยิ่งพบว่าการเรียงตัวของดาวเคราะห์นั้นไม่ได้สอดคล้องกับการเรียงแถวในวงโคจร สิ่งที่พิเศษจริง ๆ คือการที่ดาวเคราะห์ทุกดวงจะปรากฏบนท้องฟ้าพร้อมกันในช่วงหัวค่ำ แต่ในคืนวันที่ 28 ก.พ. หรือสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ดาวพุธ (Mercury) จะเข้ามาร่วมขบวนของดาวทั้งหกด้วย จนกลายเป็นการเรียงตัวของดาวเจ็ดดวง (seven planets alignment) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่หาชมได้ยากยิ่ง