เฉลิมชัยแจงวัคซีนคุมกำเนิดไม่ใช่ทำหมันช้าง

วันที่ 16 ม.ค. 2568 เวลา 15:41 น.

เฉลิมชัยแจงวัคซีนคุมกำเนิดไม่ใช่ทำหมันช้าง ปล่อยไว้ 10 ปี เพิ่มจำนวนเท่าตัว เดินหน้ามาตรการลดประชากรช้างป่า ก่อนลุกลามเป็นวิกฤตระดับชาติ วันนี้ (16 ม.ค.68) นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอบกระทู้ถามทั่วไป  กรณีปัญหาภัยจากช้างป่า บุกรุกที่ทำกินของประชาชน ว่า อยากให้มีเวทีสร้างความเข้าใจปัญหาคนกับช้างป่า ตั้งแต่มาเป็น รมว.ทส. มีหน้าที่รักษาชีวิตประชาชน และหน้าที่อนุรักษ์ช้างไปพร้อม ๆ กัน วันนี้มีช้างป่ากว่า 4,000 ตัว ก่อให้เกิดความเสียหาย จากสถิติทั้งการเสียชีวิต การบาดเจ็บ ของประชาชน และเจ้าหน้าที่ ยังไม่นับรวมความเสียหายภาคการเกษตร ช้างมีอัตราการเกิด 7-8 % หากปล่อยไปอีก 10 ปีจะมีช้างป่าเพิ่มเป็นเท่าตัว คือ 8,000 ตัว หากไม่เร่งแก้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ   นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า การประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง วันที่ 5 เม.ย. 66 มีมาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่อาหารให้ช้างป่า เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง อาจมีบางฝ่ายมองว่าคนรุกป่า แต่ตนมองว่าปัญหามีไว้แก้ไข 2.การสร้างแนวการช้างป่า ที่ผ่านมามีการทำแนวรั้ว รั้วไฟฟ้า ทำแนวขุดคู  ทำเป็นกำแพงกั้น แต่ไม่สามารถกันช้างป่าได้ เพราะช้างมีพัฒนาการ และงบประมาณที่ได้รับไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง พื้นที่ปัญหามีความยาม 50 กิโลเมตร แต่ทำได้เพียง 20 กิโลเมตร มีช่องว่าง 30 กิโลเมตร จึงไม่สามารถเป็นแนวกันช้างได้ 3. จัดชุดเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่า มีทั้งอาสาและเจ้าหน้าที่ของ ทส. 4.การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาสร้างความเดือดร้อน ทั้งเรื่องของเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน กองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า 5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน ได้ดำเนินการในส่วนของ 5 กลุ่มป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก-กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าคลองเขาสก กลุ่มป่าเขาเขียวน้ำหนาว กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่ และ6. แก้ปัญหาอัตราการเพิ่มของช้าง 7- 8% หรือ 10% ในพื้นที่ที่มีอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้อัตราการเกิดของช้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ที่อยู่ และเป็นอาหารกลับมีอยู่เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม “ หากเราจะดำเนินมาตรการ 1-5 ให้ได้ผล ต้องมีการควบคุมประชากรของช้างป่าให้นิ่งก่อน ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อคุมกำเนิดช้าง (ไม่ใช่การทำหมัน)  เพื่อให้รอบการเกิดของช้างน้อยลง จะได้จัดการปัญหาอย่างอื่นได้ และวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าไม่มีอันตราย โดยทดลองใช้กับช้างบ้าน มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะดำเนินการในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดก่อน ใช้กับช้างเพศเมียที่เคยมีลูกแล้วเท่านั้น  วัคซีนจะไปมีฤทธิ์ในการควบคุมฮอร์โมน สามารถควบคุมได้ 7 ปี ซึ่งเชื่อว่าใน 7 ปี เราจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเพิ่มพื้นที่อาหารเพื่อแก้ปัญหาช้างได้ดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปริมาณช้างขยายไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถควบคุม”รมว. ทส. กล่าว