องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉเทคนิคพิสดารซื้อเสียงเลือกตั้ง

วันที่ 16 ม.ค. 2568 เวลา 15:03 น.

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉเทคนิคพิสดารซื้อเสียงเลือกตั้ง ซื้อด้วยเงินหลวง ซื้อให้ถูกหรือผิดกฎหมายก็ได้ วันนี้ (16 ม.ค.68) ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยบทความที่ระบุถึงเทคนิคซื้อเสียงเลือกตั้ง ซื้อด้วยเงินหลวง ซื้อให้ถูกหรือผิดกฎหมายก็ได้ ข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า กลโกงเลือกตั้งยุคใหม่ มักเกิดขึ้นจากกลไกการเมืองผ่านเครือข่ายหัวคะแนนและเครือข่ายบ้านใหญ่ที่ถูกจัดวางไว้ครอบคลุมทุกระดับ ควบคู่กับใช้กลไกรัฐผ่านฝ่ายปกครองและเครือข่ายสาธารณะสุข การทุ่มซื้อเสียงจะเกิดขึ้นทั่วไปเช่นที่ผ่านมา ด้วยเทคนิคพิสดาร เช่น 1.ภาษีหายไป ในปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง อบจ. มักมีงบ 2 รายการที่เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษจากปีก่อนหน้า จนถูกตั้งคำถามว่า งบเหล่านี้ถูกนำไปหว่านซื้อเสียงอย่าง “ถูกกฎหมาย” ยิงตรงถึงตัวบุคคลอย่างเจาะจง ใช่หรือไม่ - งบจ้างงานบุคลากร ปี 2568 เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่น่าจับตา เช่น ขอนแก่นเพิ่มขึ้น 649.9 ล้านบาท (ร้อยละ 46) นราธิวาส 360 ล้านบาท (ร้อยละ 409) เชียงใหม่เพิ่มขึ้น 182 ล้านบาท (ร้อยละ 26) สงขลาเพิ่มขึ้น 139.9 ล้านบาท (ร้อยละ 25) ชลบุรีเพิ่มขึ้น 355 ล้านบาท (ร้อยละ 20) พวกตั้งใจฉ้อฉลจะเน้นจ้างลูกหลานคนในพื้นที่หาเสียง เป็นลูกจ้างหรือพนักงานชั่วคราว หลังจากนั้นอาจจ้างต่อหรือเลิกจ้างก็ได้ พื้นที่ไหนตุกติกทำคะแนนไม่เข้าเป้า คนจากพื้นที่นั้นก็ถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ยังพบอีกว่า อบจ. 20 แห่ง ตั้งงบบุคลากรไว้สูงกว่าร้อยละ 40 ของงบรายจ่ายประจำปี เกินกว่าที่กำหนดใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่นฯ -งบดำเนินการ ที่มักถูกใช้จ้างเหมาบริการ เช่น ขุดลอกคูคลอง ดูแลสวนสาธารณะ กวาดถนน มีทั้งที่ อบจ. จ้างเองและจัดสรรงบให้เทศบาลหรือ อบต. ไปจ้าง เป็นโครงการมูลค่าไม่มาก ราวหนึ่งแสนบาทหรือน้อยกว่านั้น ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ได้รับสัญญาจ้างเหมามักเป็นคนในเครือข่าย 2. จ้างทีมงานหาเสียง เป็นการซื้อเสียงที่ถูกกฎหมาย โดยจ้างคนในพื้นที่จำนวนมาก เช่น ผู้ช่วยหาเสียง ตัวแทนผู้สมัครประจำหน่วยเลือกตั้ง พิธีกรเวทีปราศรัยหาเสียง คนปิดป้ายโฆษณาป้ายหาเสียง คนแจกจ่ายใบปลิวแผ่นพับ การจ้างเช่นนี้ตรวจสอบความจริงได้ยากว่าจ้างกี่คน อัตราค่าจ้าง จ้างแล้วมาทำงานจริงหรือไม่ 3. เปิดบ่อนพนัน เดิมพันว่าใครจะชนะ ผู้บงการจะวางกลยุทธ์ราคาเดิมพันต่างกันตามสถานการณ์และเขตพื้นที่ เช่น ในกรณีผู้สมัครฯ ยัง “ไม่มั่นใจ” ว่าตนจะชนะเลือกตั้ง ช่วงเริ่มต้นจะหยั่งเสียงด้วยการตั้งราคาต่อรอง 10:3 เพื่อดูศักยภาพคู่แข่ง ถ้ามีคนแทงมากแปลว่ามีคะแนนเสียงดี แล้วขยับราคาต่อรองขึ้นเป็น 2:1 หรือ 3:2 จนไม่มีราคาต่อ หากพบว่าคู่แข่งมีคะแนนเสียงดีมากแล้ว อีกเป้าหมายสำคัญของการรับพนันคือการตั้งราคาต่อรองจูงใจชาวบ้านให้แทงข้างตนมากๆ จะได้ไปชักชวนคนอื่น ๆ มาลงคะแนนให้ตนเพื่อหวังเงินเดิมพัน ในกรณีผู้บงการ “มั่นใจ” ว่าตนชนะเลือกตั้งแน่ จะแอบวางเดิมพันด้วยเพื่อหวังกำไรมาคืนทุน 4. แจกเงินซื้อเสียงแบบดั้งเดิม วิธีทั่วไปคือให้หัวคะแนนเดินจดโพยรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตามจุดต่าง ๆ แล้วแจกเป็นเงินสดหรือ “โอนผ่านพร้อมเพย์” ตามรายชื่อ อาจจ่ายก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง ในอัตราต่างกันตั้งแต่ 200 ถึง 3,000 บาท ถูกแพงขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ เฉลี่ยทั่วประเทศ 900 บาท เมื่อจัดเวทีปราศรัย ชาวบ้านที่มาฟังได้ 300 บาท รถรับจ้างที่ขนคนมาได้ 1,500 บาท หลายแห่งชาวบ้านตกลงกับผู้สมัครไว้เลยว่าอย่าจัดเวทีซ้อนกัน  หัวคะแนนมืออาชีพจะมีเงินเดือนและค่างานเมื่อมีเลือกตั้ง แถมโบนัสก้อนโตหากผลงานดี คนกลุ่มนี้จึงรายได้ดีกว่าหัวคะแนนเฉพาะกิจ คนไทยร้อยละ 68 รู้ว่ามีการซื้อเสียงเกิดขึ้น ขณะที่ข้อมูลเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2563 มีเรื่องร้องเรียนสู่ กกต. 718 เรื่อง แต่ส่งฟ้องศาลเพียง 47 เรื่อง หรือร้อยละ 6.5 เท่านั้น ในจำนวนนี้มีผู้สมัครฯ ตกเป็นจำเลย ถูกลงโทษอาญาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพียง 4 คดี หาก กกต. ไม่ทำงานเชิงรุก การซื้อเสียงและโกงเลือกตั้งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การเมืองท้องถิ่นที่มีธรรมาภิบาลคือรากฐานประชาธิปไตย ความสุจริตโปร่งใสที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อการเมืองระดับประเทศต่อไป