เสือโคร่งขาติดบ่วง ฝังไมโครชิปย้ายไปรักษาต่อที่ห้วยขาแข้ง

วันที่ 16 ม.ค. 2568 เวลา 09:49 น.

ทีมสัตวแพทย์เคลื่อนย้าย เสือโคร่ง ขาติดบ่วงแร้วนายพราน จากบึงฉวาก ไปรักษาต่อที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ฝังไมโครชิปติดตาม ดูแลในสภาพแวดล้อมกึ่งธรรมชาติ วันนี้ (16 ม.ค.68) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรักษาอาการบาดเจ็บของเสือโคร่งที่ขาดติดกับดักสัตว์ป่าที่นายพรานลักลอบนำเข้ามาติดตั้งในป่าพุเตย จ.กาญจบุรี โดยวานนี้ (15 ม.ค.68) คณะเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติพุเตย นำโดย น.ส.สาวิตรี เชื้อพงษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพุเตย พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งที่ได้รับบาดเจ็บจากแร้วดักสัตว์นอกเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย จากศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ระยะทาง 140 กิโลเมตร โดยนำเสือโคร่งบาดเจ็บ ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ในเวลาประมาณ 22.00 น. การเคลื่อนย้ายครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้เสือโคร่งได้รับการดูแลในสภาพแวดล้อมกึ่งธรรมชาติที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านการดูแลเสือโคร่งป่า โดยการดำเนินการเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่าฯ พ.ศ. 2565 ทีมสัตวแพทย์นำโดย สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ได้ทำการตรวจรักษาและดำเนินการ ฝังไมโครชิปหมายเลข 900012000109105 ที่บริเวณไหล่ซ้าย เพื่อการติดตามและระบุตัวตน พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดและสิ่งคัดหลั่ง เพื่อตรวจโรคติดต่อที่สำคัญในสัตว์ตระกูลเสือ ตรวจวิเคราะห์ค่าเลือดทั่วไปและค่าเคมีในเลือด และเก็บตัวอย่างเพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านพันธุกรรม ทั้งนี้ตัวอย่างที่เก็บได้จะถูกส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป สำหรับช่วงตลอดการเดินทาง ทีมสัตวแพทย์ได้ติดตามและประเมินอาการของเสือโคร่งอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากชนิดนี้ โดยเจ้าหน้าที่จะติดตามความคืบหน้าและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป