อ.อ๊อดแนะจำลองเหตุการณ์แตงโมตกเรือ ตัวแปรเยอะ ควรใช้หุ่นทดลองแทน
วันที่ 16 ม.ค. 2568 เวลา 08:15 น.
อ.อ๊อด วิเคราะห์จำลองเหตุการณ์แตงโมตกเรือ แนะให้ตั้งสมมติฐานหลายแบบ ตัวแปรเยอะ “ใส่ชูชีพ ดื่มแอลกอฮอล์ กระแสน้ำ” พยานหลักฐานหากมีข้อสงสัยศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยทันที ควรใช้หุ่นน้ำหนักตัวเท่าแตงโม ทดลองแทน จำลองเสมือนจริงเหตุการณ์แตงโมนิดาตกเรือ คืนวานนี้ (15 ม.ค.68) อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว จากภาพเหตุการณ์จำลองเสมือนจริง โดยระบุว่า ส่วนตัวอาจารย์อ๊อดเห็นด้วยที่จะจำลองเหตุการณ์ เพื่อเสาะแสวงหาความเป็นไปได้ ทุกประเด็นให้สิ้นกระแสความ เพื่อความยุติธรรมต่อน้องแตงโม แต่การใช้คนจริง ค่อนข้างอันตราย อาจารย์อ๊อดแนะนำว่าให้ใช้ หุ่นที่มีน้ำหนักเท่ากับน้องแตงโม ทำการทดลองแทนจะดีกว่า จากคลิปภาพการจำลองเหตุการณ์โดยใช้คนจริง ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ จะเห็นว่าคุณหมอ (ผู้ทดสอบจำลองเหตุการณ์) เอียงตัว ตกน้ำ ออกทางสีเหลือง (ในภาพหมายเลข 4) ตลอดเวลา ด้วย จิตสำนึกของมนุษย์ต้องไปในทิศทางที่ปลอดภัย ว้ก่อน อ.อ๊อด ให้คำแนะนำด้วยว่า อยากให้จำลองเหตุการณ์อีก 1 ภาวะ คือ เรือจอดอยู่ แล้วมือน้องไปจับที่เครื่อง (ในภาพหมายเลข 1) แล้วจังหวะนั้นเรือกระชากออกตัวพอดีทำให้น้องตก ว่าจะมีโอกาสที่จะสะบัดตัว เกาะที่ตัวเครื่องยนต์ ตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด (ตามภาพในหมายเลข 2 และเลข 3 )ทำให้ขา อาจจะไปเกี่ยวพันกับใบพัดเรือ แล้วเกิดเป็นแผล ที่โคนขาได้หรือไม่ อย่าลืมว่าน้องดื่มไวน์ และอยู่ในอาการมึนเมา อาจารย์อ๊อด ย้ำว่าแนะนำให้ ตั้งสมมติฐานตัวแปรหลายแบบ เพราะการเอาพยานหลักฐานพวกนี้ขึ้นศาล หากมีข้อสงสัยศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยทันที สมมติฐานที่เราตั้งเรื่องฆาตกรรม ก็จะไม่เป็นผล จากนั้น อ.อ๊อด ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจำลองเหตุการณ์แตงโมตกน้ำอีกครั้ง โดยแนะนำให้ใช้ หุ่นที่มีน้ำหนักเท่ากับน้องแตงโม ทำการทดลองแทนจะดีกว่า การตกเรือจาก ด้านท้ายเรือ โดยใส่ชูชีพหรือไม่ใส่ชูชีพ จะมีความแตกต่างในเรื่องการเคลื่อนที่และทิศทางของตัวคนในน้ำ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 1. ใส่ชูชีพ การลอยตัวและอยู่บนผิวน้ำ ชูชีพจะช่วยให้ร่างกายลอยน้ำได้ง่ายและคงตัวอยู่บนผิวน้ำ เมื่อเรือแล่นด้วยความเร็ว แรงน้ำจากการเคลื่อนที่ของเรือ (Wake flow) จะดึงตัวเราไปในทิศทาง ตามกระแสน้ำที่ถูกสร้างขึ้นจากท้ายเรือ ซึ่งอาจเบี่ยงไปด้านข้างของแนวเรือเล็กน้อย โดยตัวจะถูกดึงไปในแนวเดียวกับกระแสน้ำที่เกิดจากใบพัดเรือ (ถ้ามีใบพัด) หากตกในน้ำที่นิ่ง (เช่น ทะเลสงบ) ตัวเราจะถูกพัดห่างจากเรือช้า ๆ แต่ยังอยู่ใกล้เส้นทางที่เรือผ่านไป 2. ไม่ใส่ชูชีพ อาจจมลงชั่วคราว เมื่อร่างกายกระทบกับน้ำ หากไม่มีชูชีพ ร่างกายจะจมลงเล็กน้อยก่อนที่เราจะพยายามลอยตัวเองขึ้น ทิศทางการเคลื่อนที่ในช่วงแรกจะขึ้นอยู่กับแรงจากการตกและทิศทางของกระแสน้ำ แรงดูดจากใบพัดเรือ หากเรือมีใบพัด อาจเกิดแรงดูดพาเราไปทางท้ายเรือ (ใกล้ใบพัด) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกบาดเจ็บจากใบพัด หากไม่มีใบพัด ตัวเราจะถูกดึงไปตามแรงของกระแสน้ำท้ายเรือ คล้ายกับกรณีใส่ชูชีพ ทิศทางการเคลื่อนที่ขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนของเรือและแรงพยุงตัวในน้ำ ตัวอาจจมและไหลตามกระแสน้ำหรือพัดออกนอกเส้นทางเรือ นอกจากนี้ อ.อ๊อด ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทาง เช่น 1.ความเร็วของเรือ : หากเรือเคลื่อนที่เร็ว แรงน้ำท้ายเรือจะดึงตัวเราตามกระแสน้ำได้แรงกว่า 2. ใบพัดเรือ : ใบพัดเรือจะสร้างกระแสน้ำที่ดึงตัวเราเข้าไปใกล้บริเวณท้ายเรือ 3. กระแสน้ำธรรมชาติ : หากอยู่ในแม่น้ำหรือทะเลที่มีกระแสน้ำ แรงน้ำธรรมชาติจะพัดพาเราไปในทิศทางที่แตกต่างจากกระแสท้ายเรือ 4. สภาพอากาศและคลื่น : คลื่นหรือลมอาจทำให้ทิศทางการลอยตัวเบี่ยงเบนจากเส้นทางที่เรือผ่าน สรุปว่า การใส่ชูชีพ: ตัวจะลอยอยู่บนผิวน้ำและถูกดึงไปตามกระแสน้ำที่เกิดจากเรือ ขณะที่การไม่ใส่ชูชีพ: ตัวอาจจมเล็กน้อยและเคลื่อนที่ตามแรงกระแทกของน้ำ ทิศทางอาจผันผวนตามกระแสน้ำธรรมชาติและแรงจากท้ายเรือ