พาร์กินสัน 1 ในโรคที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นในไทย
วันที่ 16 ม.ค. 2568 เวลา 07:14 น.
สนามข่าว 7 สี - ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันไม่ได้เกิดขึ้นในผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากแพทย์ชี้แล้วว่า ยิ่งนับวันผู้ป่วยก็เริ่มมีอายุน้อยลง ซึ่งคนอายุ 40 ปี ก็มีสิทธิ์เป็นได้ พาร์กินสันเป็นหนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาท พบมากในอายุ 60 ขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ จากปัจจัยเสี่ยง อายุที่มากขึ้น ปัจจัยทางพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น พาร์กินสัน เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการทันที แต่มีระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน 10-20 ปี อาการที่ชัดเจนคือ อาการสั่น ท้องผูกเรื้อรัง และนอนละเมอ ทำให้ไม่คิดว่าตนเองเป็น และไม่ได้เข้ารับการรักษา อาการป่วยส่งผลให้เคลื่อนไหวตัวเองลำบาก ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีอายุน้อยลง ดังนั้นการเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อหาทางป้องกัน และเข้าสู่กระบวนการรักษา ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ร่วมกับสภากาชาดไทย พัฒนาแอปพลิเคชัน ประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน หรือแอป CHECK PD ให้สามารถตรวจเช็กความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ใช้เวลาประมาณ 25 นาที ทำแบบประเมินความเสี่ยง 20 ข้อ ทั้งการตอบคำถาม ทดสอบขยับนิ้ว ทดสอบอาการสั่น ทดสอบการทรงตัว และทดสอบการออกเสียง สามารถกดรับผลในแอปพลิเคชันได้ทันที มีความแม่นยำสูงถึง 91% โดยแอปพลิเคชัน CHECK PD สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทั้งแอปสโตร์ และเพลย์สโตร์ ถ้าหากตรวจพบความเสี่ยง ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที